ดัชนีดาวโจนส์ร่วงลงอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดดิ่งลงกว่า 200 จุด หลังการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่ไร้ทิศทางในวันนี้
ทั้งนี้ สหรัฐเปิดเผยยอดค้าปลีกพุ่งขึ้นเกินคาด ขณะที่ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานก็สูงกว่าคาดการณ์เช่นกัน
ณ เวลา 22.01 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 34,575.73 จุด ลบ 238.66 จุด หรือ 0.69%
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ยอดค้าปลีกเพิ่มขึ้น 0.7% ในเดือนส.ค. เมื่อเทียบรายเดือน สวนทางนักวิเคราะห์ที่คาดว่าจะลดลง 0.8%
เมื่อเทียบรายปี ยอดค้าปลีกพุ่งขึ้น 15.1% ในเดือนส.ค.
ยอดค้าปลีกที่พุ่งขึ้นในเดือนส.ค. ได้รับแรงหนุนจากการใช้จ่ายในช่วงก่อนเปิดเทอมการศึกษาในสหรัฐ
ทางด้านกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเพิ่มขึ้น 20,000 ราย สู่ระดับ 332,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว โดยสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 330,000 ราย
นอกจากนี้ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาฟิลาเดลเฟีย เปิดเผยดัชนีภาคการผลิตในภูมิภาคมิด-แอตแลนติก พุ่งขึ้นสู่ระดับ 30.7 ในเดือนก.ย. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 18.7 จากระดับ 19.4 ในเดือนส.ค.
การพุ่งขึ้นของดัชนีภาคการผลิตของเฟดสาขาฟิลาเดลเฟียในวันนี้ สอดคล้องกับดัชนีภาคการผลิตที่แข็งแกร่งของเฟดสาขานิวยอร์ก
ทั้งนี้ เฟดสาขานิวยอร์ก เปิดเผยวานนี้ว่า ดัชนีภาคการผลิต (Empire State Index) พุ่งขึ้นสู่ระดับ 34.3 ในเดือนก.ย. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 18.0 จากระดับ 18.3 ในเดือนส.ค.
นักลงทุนจับตาการประชุมกำหนดนโยบายการเงินของเฟดในวันที่ 21-22 ก.ย.นี้ เพื่อหาสัญญาณการปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
สถิติในอดีตบ่งชี้ว่าตลาดหุ้นวอลล์สตรีทมักปรับตัวย่ำแย่ในเดือนก.ย.
ทั้งนี้ ข้อมูลจาก "Stock Trader's Almanac" ระบุว่า นับตั้งแต่ปี 2493 เดือนก.ย.เป็นเดือนที่ดัชนี S&P 500 ปรับตัวย่ำแย่ที่สุดของปี และนับตั้งแต่ปี 2488 ดัชนี S&P 500 ร่วงลงเฉลี่ย 0.56% ในเดือนก.ย. ขณะที่เดือนก.พ.เป็นอีกหนึ่งเดือนที่ดัชนี S&P 500 มักปรับตัวลง
สำหรับในเดือนก.ย.ปีนี้ ดัชนีดาวโจนส์ดิ่งลงแล้ว 1.6% ส่วนดัชนี S&P 500 ร่วงลง 0.9% โดยมีแนวโน้มเป็นเดือนที่มีการปรับตัวย่ำแย่ที่สุดนับตั้งแต่เดือนม.ค. ขณะที่ดัชนี Nasdaq ปรับตัวลง 0.6%
นักวิเคราะห์เตือนว่า หลังจากปรับตัวขึ้น 7 เดือนติดต่อกัน ขณะนี้ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทกำลังมีความเสี่ยงที่จะเผชิญกับการปรับฐานจากปัจจัยหลายประการ เช่น การที่เฟดอาจประกาศปรับลดวงเงิน QE ในการประชุมเดือนนี้, การที่สภาคองเกรสอาจให้การอนุมัติการปรับขึ้นภาษีเงินได้นิติบุคคล รวมทั้งความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา
นางลิซ แอน ซอนเดอร์ นักวิเคราะห์จากบริษัท Charles Schwab เตือนว่าตลาดหุ้นอาจปรับฐานมากกว่า 3% หรือ 4% ในเดือนนี้
นอกจากนี้ สถิติที่ผ่านมาบ่งชี้ว่า ตลาดหุ้นสหรัฐมักดิ่งลงอย่างหนักในเดือนก.ย. โดยเฉพาะหากเป็นปีแรกของการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ ซึ่งทำให้ดัชนี S&P 500 ร่วงลงเฉลี่ย 0.73% ในเดือนก.ย.ของปีดังกล่าว