ดัชนีดาวโจนส์พุ่งขึ้นกว่า 200 จุด ทะลุแนว 35,000 ในวันนี้ โดยเป็นการซื้อขายวันแรกของสัปดาห์สุดท้ายในเดือนก.ย. ซึ่งเป็นเดือนที่มีการซื้อขายอย่างผันผวน
นักลงทุนจับตานายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และนางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐ ซึ่งมีกำหนดกล่าวถ้อยแถลงต่อคณะกรรมาธิการการธนาคารประจำวุฒิสภาในวันพรุ่งนี้ โดยทั้งสองจะแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจสหรัฐ และความสำคัญของการใช้นโยบายการเงินและการคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
นอกจากนี้ คาดว่าคณะกรรมาธิการดังกล่าวจะทำการซักถามนายพาวเวลและนางเยลเลนเกี่ยวกับเงินเฟ้อในสหรัฐ รวมทั้งร่างกฎหมายโครงสร้างพื้นฐานของสหรัฐวงเงิน 1 ล้านล้านดอลลาร์ และประเด็นเพดานหนี้ของสหรัฐ
ณ เวลา 21.08 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 35,017.16 จุด บวก 219.16 จุด หรือ 0.63%
หุ้นกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากการเปิดเศรษฐกิจต่างดีดตัวขึ้นในวันนี้ ขานรับการปรับตัวลงของจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในสหรัฐ
ถึงแม้ดัชนีดาวโจนส์พุ่งขึ้นกว่า 200 จุดในวันนี้ โดยได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงานและธนาคาร แต่ดัชนี S&P 500 ปรับตัวลง 0.2% ส่วนดัชนี Nasdaq ดิ่งลงเกือบ 2% นำโดยหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี โดยได้รับผลกระทบจากการดีดตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ
ทั้งนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ดีดตัวเหนือระดับ 1.5% ในวันนี้ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมิ.ย. จากปัจจัยความเชื่อมั่นต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ขณะที่วิตกต่อการพุ่งขึ้นของเงินเฟ้อ
สถิติในอดีตบ่งชี้ว่าตลาดหุ้นวอลล์สตรีทมักปรับตัวย่ำแย่ในเดือนก.ย.
ข้อมูลจาก "Stock Trader's Almanac" ระบุว่า นับตั้งแต่ปี 2493 เดือนก.ย.เป็นเดือนที่ดัชนี S&P 500 ปรับตัวย่ำแย่ที่สุดของปี และนับตั้งแต่ปี 2488 ดัชนี S&P 500 ร่วงลงเฉลี่ย 0.56% ในเดือนก.ย. ขณะที่เดือนก.พ.เป็นอีกหนึ่งเดือนที่ดัชนี S&P 500 มักปรับตัวลง
สำหรับในเดือนก.ย.ปีนี้ ดัชนีดาวโจนส์ดิ่งลง 1.6% ส่วนดัชนี S&P 500 ร่วงลง 1.5% โดยมีแนวโน้มที่จะปรับตัวลงเป็นเดือนแรกนับตั้งแต่ต้นปีนี้ ส่วนดัชนี Nasdaq ติดลบ 1.4%
นอกจากนี้ สถิติที่ผ่านมาบ่งชี้ว่า ตลาดหุ้นสหรัฐมักดิ่งลงอย่างหนักในเดือนก.ย. โดยเฉพาะหากเป็นปีแรกของการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ ซึ่งทำให้ดัชนี S&P 500 ร่วงลงเฉลี่ย 0.73% ในเดือนก.ย.ของปีดังกล่าว
นักลงทุนจับตาแนวโน้มที่หน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐอาจต้องถูกปิดการดำเนินงานในปลายสัปดาห์นี้ เนื่องจากขาดแคลนงบประมาณ
ทั้งนี้ สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐมีมติอนุมัติร่างกฎหมายงบประมาณชั่วคราวในวันที่ 21 ก.ย. เพื่อสนับสนุนหน่วยงานของรัฐบาลกลางสหรัฐให้มีงบประมาณใช้จ่ายไปจนถึงวันที่ 3 ธ.ค. และหลีกเลี่ยงไม่ให้หน่วยงานเหล่านี้ต้องถูกปิดการดำเนินงาน นอกจากนี้ สภาผู้แทนราษฎรยังมีมติให้ยกเลิกเพดานหนี้ของสหรัฐไปจนถึงสิ้นปี 2565
ขณะนี้ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐได้ส่งร่างกฎหมายดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภา อย่างไรก็ดี วุฒิสมาชิกสังกัดพรรครีพับลิกันหลายรายยืนกรานว่าจะไม่โหวตรับรองร่างกฎหมายดังกล่าว ซึ่งอาจส่งผลให้หน่วยงานรัฐบาลสหรัฐต้องปิดการดำเนินงานในสิ้นเดือนนี้ เนื่องจากขาดงบประมาณ และรัฐบาลสหรัฐมีความเสี่ยงที่จะเผชิญการผิดนัดชำระหนี้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์
ส่วนการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐในวันนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐ เช่น เครื่องบิน รถยนต์ และเครื่องจักรขนาดใหญ่ที่มีอายุการใช้งานตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป พุ่งขึ้น 1.8% ในเดือนส.ค. หลังจากเพิ่มขึ้น 0.5% ในเดือนก.ค.
นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่ายอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเพิ่มขึ้น 0.7% ในเดือนส.ค.
ส่วนยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนพื้นฐาน ซึ่งเป็นคำสั่งซื้อสินค้าทุนที่ไม่รวมเครื่องบิน และสินค้าด้านอาวุธ โดยเป็นสิ่งบ่งชี้แผนการใช้จ่ายของภาคธุรกิจ เพิ่มขึ้น 0.5% หลังจากเพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนก.ค.
นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนพื้นฐานเพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือนส.ค.