ดัชนีดาวโจนส์ดีดตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องในวันนี้ ล่าสุดพุ่งขึ้นกว่า 200 จุด โดยได้อานิสงส์จากการชะลอตัวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ
นอกจากนี้ ดัชนีดาวโจนส์ยังได้ปัจจัยหนุนจากการเปิดเผยดัชนีการทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย (pending home sales) พุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 7 เดือน
ณ เวลา 21.28 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 34,501.09 จุด บวก 201.10 จุด หรือ 0.59%
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีปรับตัวลงในวันนี้ หลังจากพุ่งแตะ 1.567% เมื่อวานนี้ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมิ.ย.
หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีต่างดีดตัวขึ้นในวันนี้
ทั้งนี้ ดัชนีดาวโจนส์ดิ่งลง 1.63% เมื่อวานนี้ ขณะที่ดัชนี S&P 500 ร่วงลง 2.04% และดัชนี Nasdaq ทรุดตัวลง 2.83% ซึ่งเป็นการปรับตัวลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค. โดยถูกกดดันจากการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ, ความกังวลเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อ รวมทั้งความขัดแย้งในสภาคองเกรสเกี่ยวกับการอนุมัติร่างกฎหมายงบประมาณชั่วคราวและการเพิ่มเพดานหนี้ของสหรัฐ
นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เตือนว่าสหรัฐอาจเผชิญภาวะเงินเฟ้อพุ่งสูงยาวนานกว่าที่คาดการณ์ไว้
"เงินเฟ้อได้เร่งตัวขึ้นในขณะนี้ และมีแนวโน้มยังคงอยู่ในระดับสูงในช่วงหลายเดือนข้างหน้า ก่อนที่จะอ่อนตัวลง" นายพาวเวลกล่าว
แม้ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทฟื้นตัวขึ้นในวันนี้ แต่ก็มีแนวโน้มที่จะยังคงรักษาสถิติในการปรับตัวลงในเดือนก.ย.ของทุกปี
หากพิจารณาตั้งแต่ต้นเดือนก.ย.ปีนี้ ดัชนีดาวโจนส์และดัชนี S&P 500 ต่างก็ร่วงลง 3% ขณะที่ดัชนี Nasdaq ทรุดตัวลงมากกว่า 4.5% และจากการที่เหลือวันทำการซื้อขายอีกเพียง 2 วันในสหรัฐ ทำให้เป็นเรื่องยากที่ดัชนีทั้ง 3 จะสามารถพลิกดีดตัวกลับมาเป็นบวกในเดือนก.ย.
สถิติในอดีตบ่งชี้ว่าตลาดหุ้นวอลล์สตรีทมักปรับตัวย่ำแย่ในเดือนก.ย.
ทั้งนี้ ข้อมูลจาก "Stock Trader's Almanac" ระบุว่า นับตั้งแต่ปี 2493 เดือนก.ย.เป็นเดือนที่ดัชนี S&P 500 ปรับตัวย่ำแย่ที่สุดของปี และนับตั้งแต่ปี 2488 ดัชนี S&P 500 ร่วงลงเฉลี่ย 0.56% ในเดือนก.ย. ขณะที่เดือนก.พ.เป็นอีกหนึ่งเดือนที่ดัชนี S&P 500 มักปรับตัวลง
นักวิเคราะห์เตือนว่า หลังจากปรับตัวขึ้น 7 เดือนติดต่อกัน ขณะนี้ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทกำลังมีความเสี่ยงที่จะเผชิญกับการปรับฐานจากปัจจัยหลายประการ ได้แก่ การที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีแนวโน้มปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) และปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดไว้, ความขัดแย้งในสภาคองเกรสเกี่ยวกับการอนุมัติร่างกฎหมายงบประมาณชั่วคราว และการเพิ่มเพดานหนี้สหรัฐ, การที่สภาคองเกรสอาจให้การอนุมัติการปรับขึ้นภาษีเงินได้นิติบุคคล รวมทั้งความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา
นางลิซ แอน ซอนเดอร์ นักวิเคราะห์จากบริษัท Charles Schwab ระบุเตือนว่าตลาดหุ้นสหรัฐมีแนวโน้มปรับฐาน 3-4% ในเดือนนี้
นอกจากนี้ สถิติที่ผ่านมาบ่งชี้ว่า ตลาดหุ้นสหรัฐมักดิ่งลงอย่างหนักในเดือนก.ย. โดยเฉพาะหากเป็นปีแรกของการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ ซึ่งทำให้ดัชนี S&P 500 ร่วงลงเฉลี่ย 0.73% ในเดือนก.ย.ของปีดังกล่าว
ส่วนการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐในวันนี้ สมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติของสหรัฐ (NAR) เปิดเผยว่า ดัชนีการทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย (pending home sales) พุ่งขึ้น 8.1% สู่ระดับ 119.5 ในเดือนส.ค. เมื่อเทียบรายเดือน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนม.ค. และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 1.4%
อย่างไรก็ดี ดัชนียังคงถูกกดดันจากสต็อกบ้านที่ตึงตัว และราคาบ้านในระดับสูง
เมื่อเทียบรายปี ดัชนีร่วงลง 8.3% ในเดือนส.ค.
ทั้งนี้ ดัชนีการทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย เป็นมาตรวัดจำนวนสัญญาซื้อบ้านมือสองที่มีการเซ็นสัญญาแล้วแต่ยังไม่ได้ปิดการขาย และโดยปกติแล้วจะใช้เวลาประมาณ 1-2 เดือนสำหรับการเซ็นสัญญาจนกระทั่งปิดการขาย