ดัชนีดาวโจนส์เปิดแดนบวกในวันนี้ โดยได้แรงหนุนจากการที่สหรัฐปรับเพิ่มตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจประจำไตรมาส 2 รวมทั้งการที่สภาคองเกรสสามารถบรรลุข้อตกลงเลี่ยงปัญหาชัตดาวน์
ณ เวลา 20.58 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 34,431.52 จุด บวก 40.80 จุด หรือ 0.12%
หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีดีดตัวขึ้นในวันนี้
ราคาหุ้นของบริษัทเมอร์ค แอนด์ โค ซึ่งเป็นบริษัทยารายใหญ่ของสหรัฐ พุ่งขึ้น 1.5% ในวันนี้ ขานรับข่าวดีจากความคืบหน้าในการทดลองยาโมลนูพิราเวียร์ (molnupiravir) รวมทั้งการที่บริษัทเข้าซื้อกิจการ Acceleron Pharma Inc
เมอร์คระบุว่า การเข้าซื้อกิจการของ Acceleron จะทำให้บริษัทมีกรรมสิทธิ์ในยาที่ใช้รักษาโรคที่หายาก โดย Acceleron มีความเชี่ยวชาญในการผลิตยารักษาหลอดเลือดหัวใจ รวมทั้งอาการผิดปกติอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับโลหิต
นอกจากนี้ Acceleron กำลังอยู่ในระหว่างการทดลองระยะสุดท้ายสำหรับยา Sotatercept ซึ่งเป็นยารักษาโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดหัวใจที่เกิดขึ้นได้ยาก โดยทำให้เกิดภาวะความดันหลอดเลือดแดงปอดสูง (PAH)
ทั้งนี้ การรักษาโรคที่หายากถือเป็นตลาดที่ทำเงินมหาศาลสำหรับบริษัทผลิตยา เนื่องจากผู้ผลิตสามารถตั้งราคาในระดับสูงสำหรับยาที่ใช้รักษาโรคเฉพาะทางดังกล่าว
แถลงการณ์ของเมอร์คในวันนี้มีขึ้น หลังจากที่เมื่อวานนี้บริษัทเปิดเผยถึงความคืบหน้าในการทดลองยาโมลนูพิราเวียร์ ซึ่งเป็นยาเม็ดสำหรับรักษาโรคโควิด-19
ทั้งนี้ เมอร์คระบุว่า ผลการทดลองพบว่า โมลนูพิราเวียร์มีประสิทธิภาพในการต้านไวรัสโควิด-19 หลายสายพันธุ์ ซึ่งรวมถึงสายพันธุ์เดลตา
แม้ตลาดหุ้นสหรัฐปรับตัวขึ้นในวันนี้ แต่เมื่อพิจารณาทั้งเดือนก.ย. พบว่า ดัชนีดาวโจนส์ร่วงลง 2.7% ดัชนี S&P 500 ดิ่งลง 3.6% และดัชนี Nasdaq ทรุดตัวลง 4.9% สอดคล้องกับสถิติที่ผ่านมาซึ่งระบุว่าตลาดหุ้นวอลล์สตรีทมักปรับตัวลงในเดือนก.ย.ของทุกปี
นักวิเคราะห์ระบุว่า หลังจากปรับตัวขึ้น 7 เดือนติดต่อกัน ขณะนี้ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทกำลังมีความเสี่ยงที่จะเผชิญกับการปรับฐานจากปัจจัยหลายประการ ได้แก่ การที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีแนวโน้มปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) และปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดไว้, ความขัดแย้งในสภาคองเกรสเกี่ยวกับการเพิ่มเพดานหนี้สหรัฐ, การที่สภาคองเกรสอาจให้การอนุมัติการปรับขึ้นภาษีเงินได้นิติบุคคล รวมทั้งความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อ และความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งที่ 3 สำหรับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 2/2564 โดยระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐมีการขยายตัว 6.7% ในไตรมาส 2 สูงกว่าตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 ที่ระดับ 6.5% และตัวเลขประมาณการครั้งที่ 2 ที่ระดับ 6.6% หลังจากที่ขยายตัว 6.3% ในไตรมาส 1
อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะชะลอตัวในไตรมาส 3 โดยจะมีการขยายตัวต่ำกว่า 5% ท่ามกลางผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา และการขาดแคลนวัตถุดิบในภาคการผลิต ซึ่งกระทบต่อยอดขายรถยนต์ รวมทั้งตัวเลขการสร้างบ้านและการซื้อบ้าน
ทางด้านนายชัค ชูเมอร์ ผู้นำเสียงข้างมากในวุฒิสภาสหรัฐ กล่าวว่า สมาชิกวุฒิสภาได้บรรลุข้อตกลงสำหรับร่างกฎหมายงบประมาณชั่วคราว เพื่อสนับสนุนหน่วยงานของรัฐบาลกลางสหรัฐให้มีงบประมาณใช้จ่ายจนถึงวันที่ 3 ธ.ค. และหลีกเลี่ยงไม่ให้หน่วยงานเหล่านี้ต้องถูกปิดการดำเนินงาน
นายชูเมอร์แถลง ก่อนที่วุฒิสภาจะทำการลงมติต่อร่างกฎหมายดังกล่าวในวันนี้
"เราสามารถอนุมัติร่างกฎหมายดังกล่าวได้อย่างรวดเร็ว และส่งไปยังสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้ถึงโต๊ะท่านประธานาธิบดีก่อนที่จะสิ้นสุดปีงบประมาณในช่วงเที่ยงคืนวันนี้" นายชูเมอร์กล่าว
อย่างไรก็ดี ร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่รวมถึงการเพิ่มเพดานหนี้ของสหรัฐ ซึ่งพรรคเดโมแครตและรีพับลิกันจะมีการหารือกันหลังจากนี้
นักลงทุนจับตานายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด และนางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐ ซึ่งจะกล่าวถ้อยแถลงต่อคณะกรรมาธิการบริการการเงินประจำสภาผู้แทนราษฎรในวันนี้ เพื่อแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจสหรัฐ และเน้นย้ำความสำคัญของการใช้นโยบายการเงินและการคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
ก่อนหน้านี้ นายพาวเวลและนางเยลเลนได้กล่าวถ้อยแถลงต่อคณะกรรมาธิการการธนาคารประจำวุฒิสภาเมื่อวันอังคาร โดยระบุเตือนว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาได้ชะลอการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ และสหรัฐจะเผชิญภาวะเงินเฟ้อพุ่งสูงเป็นระยะเวลานานกว่าที่คาดไว้
ส่วนการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐในวันนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเพิ่มขึ้น 11,000 ราย สู่ระดับ 362,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 335,000 ราย
ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในสัปดาห์ที่แล้วแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 7 ส.ค. และปรับตัวขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 3 ติดต่อกัน ซึ่งบ่งชี้ว่าการจ้างงานได้ชะลอตัวลง ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ขณะที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
อย่างไรก็ดี จำนวนชาวอเมริกันที่ยังคงขอรับสวัสดิการว่างงานต่อเนื่องลดลงสู่ระดับ 2.802 ล้านราย