ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบติดต่อกันเป็นวันที่ 3 เมื่อคืนนี้ (12 ต.ค.) เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อที่เป็นผลมาจากการพุ่งขึ้นของต้นทุนพลังงาน ขณะเดียวกันนักลงทุนจับตาการเปิดเผยผลประกอบการไตรมาส 3 ของธนาคารรายใหญ่ในสหรัฐ รวมทั้งรายงานการประชุมประจำเดือนก.ย.ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในสัปดาห์นี้
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 34,378.34 จุด ลดลง 117.72 จุด หรือ -0.34% ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,350.65 จุด ลดลง 10.54 จุด หรือ -0.24% ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 14,465.93 จุด ลดลง 20.28 จุด หรือ -0.14%
ภาวะการซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กยังคงได้รับแรงกดดันจากการที่นักลงทุนกังวลว่า การพุ่งขึ้นของราคาน้ำมันจะส่งผลให้ต้นทุนพลังงานดีดตัวและก่อให้เกิดภาวะเงินเฟ้อตามมา นอกจากนี้ ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นยังอาจส่งผลกระทบต่อรายได้ของบริษัทเอกชนและบั่นทอนการใช้จ่ายของผู้บริโภค
หุ้น 6 ใน 11 กลุ่มที่คำนวณในดัชนี S&P500 ปิดปรับตัวลง นำโดยหุ้นกลุ่มการสื่อสารและกลุ่มเทคโนโลยีร่วงลง 1.05% ละ 0.51% ตามลำดับ ทั้งนี้ หุ้นเน็ตฟลิกซ์ ลดลง 0.33% หุ้นทวิตเตอร์ ร่วงลง 1.05% หุ้นแอปเปิล ลดลง 0.91% หุ้นอัลฟาเบท ร่วงลง 1.77% หุ้นไมโครซอฟท์ ลดลง 0.46%
ดัชนีหุ้นกลุ่มธนาคารปรับตัวลง 0.6% ก่อนที่ธนาคารรายใหญ่ของสหรัฐจะเปิดเผยผลประกอบการในสัปดาห์นี้ โดยหุ้นเจพีมอร์แกน ลดลง 0.77% หุ้นแบงก์ ออฟ อเมริกา ลดลง 0.55% หุ้นเวลส์ ฟาร์โก ร่วงลง 1.33%
ทั้งนี้ เจพีมอร์แกนมีกำหนดเปิดเผยผลประกอบการไตรมาส 3/2564 ในวันนี้ (13 ต.ค.) ส่วนโกลด์แมน แซคส์, แบงก์ ออฟ อเมริกา, มอร์แกน สแตนลีย์, เวลส์ ฟาร์โก และซิตี้ กรุ๊ป จะเปิดเผยผลประกอบการในสัปดาห์นี้
ไมเคิล เจมส์ นักวิเคราะห์จากบริษัท Wedbush Securities กล่าวว่า แม้ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนมีแนวโน้มฟื้นตัวในไตรมาส 3 แต่นักลงทุนกังวลว่าบริษัทเหล่านี้อาจจะปรับลดตัวเลขคาดการณ์รายได้ตลอดปีงบการเงิน 2564 เนื่องจากผลกระทบของต้นทุนที่สูงขึ้น รวมทั้งปัญหาคอขวดที่เกิดขึ้นกับห่วงโซ่อุปทาน
หุ้นเทสลา พุ่งขึ้น 1.74% หลังเทสลาเปิดเผยยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศจีนจำนวน 56,006 คันในเดือนก.ย. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เทสลาเริ่มการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในเซี่ยงไฮ้เมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้ว
ขณะที่หุ้นไนกี้ พุ่งขึ้น 2.04% หลังจากนักวิเคราะห์ของโกลด์แมน แซคส์แนะนำให้นักลงทุนซื้อหุ้นไนกี้
นักลงทุนจับตารายงานดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนก.ย.ของสหรัฐ และรายงานการประชุมประจำเดือนก.ย.ของเฟดในวันนี้ตามเวลาสหรัฐ โดยคาดว่าจะเป็นสัญญาณบ่งชี้ไทม์ไลน์ที่เฟดจะปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ สำนักงานสถิติของกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยผลสำรวจการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) พบว่า ตัวเลขการเปิดรับสมัครงาน ซึ่งเป็นมาตรวัดอุปสงค์ในตลาดแรงงาน ปรับตัวลดลงแตะ 10.4 ล้านตำแหน่งในเดือนส.ค. หลังจากที่พุ่งทำสถิติเป็นประวัติการณ์ในเดือนก.ค. และน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 10.9 ล้านตำแหน่ง
ทั้งนี้ ตัวเลข JOLTS นับเป็นข้อมูลที่เฟดให้ความสนใจ โดยมองว่าเป็นมาตรวัดภาวะตึงตัวในตลาดแรงงาน ซึ่งเป็นปัจจัยในการพิจารณานโยบายการเงิน และอัตราดอกเบี้ยของเฟด