ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (21 ต.ค.) โดยถูกกดดันจากหุ้น IBM ที่ร่วงลงหลังรายงานผลประกอบการที่น่าผิดหวัง แต่ดัชนี Nasdaq และ S&P500 ปิดบวกโดยได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นชั้นนำ อาทิ หุ้นเทสลา
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 35,603.08 จุด ลดลง 6.26 จุด หรือ -0.02%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,549.78 จุด เพิ่มขึ้น 13.59 จุด หรือ +0.30% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 15,215.70 จุด เพิ่มขึ้น 94.02 จุด หรือ +0.62%
ดัชนีดาวโจนส์ปรับตัวลง โดยถูกกดดันจากหุ้น IBM ที่ร่วงลง 9.56% หลังเปิดเผยรายได้ไตรมาส 3 ต่ำกว่าที่ตลาดคาดไว้
ทั้งนี้ บริษัทอินเตอร์เนชั่นแนล บิสซิเนส แมชชีน (IBM) เปิดเผยรายได้ไตรมาส 3 ที่ระดับ 1.762 หมื่นล้านดอลลาร์ ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 1.777 หมื่นล้านดอลลาร์
แต่ดัชนี S&P500 ปรับตัวขึ้นเป็นวันที่ 7 ติดต่อกัน โดยหุ้นกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยปรับตัวขึ้นมากที่สุด และหุ้นกลุ่มพลังงานปรับตัวลงมากที่สุดตามสัญญาน้ำมันดิบซึ่งลดลงจากความวิตกเกี่ยวกับอุปสงค์
ข้อมูลจาก Refinitiv บ่งชี้ว่า บรรดานักวิเคราะห์คาดว่า ผลประกอบการไตรมาส 3 ของบริษัทในดัชนี S&P500 จะเพิ่มขึ้น 33.7% เมื่อเทียบเป็นรายปี โดยบริษัทประมาณ 100 แห่งรายงานผลประกอบการออกมาแล้ว
หุ้นเทสลาช่วยหนุนดัชนี Nasdaq หลังเปิดเผยผลประกอบการที่สดใส แม้เตือนเกี่ยวกับปัญหาด้านห่วงโซ่อุปทานก็ตาม
เทสลาเปิดเผยผลประกอบการประจำไตรมาส 3/2564 ระบุว่า บริษัทมีกำไรสุทธิเมื่อคำนวนตามหลักการบัญชีทั่วไป (GAAP) อยู่ที่ 1.62 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งนับเป็นครั้งที่สองที่กำไรสุทธิเกินหลัก 1 พันล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งมีกำไรสุทธิ 331 ล้านดอลลาร์
หุ้นสายการบินอเมริกัน แอร์ไลน์ ปรับตัวขึ้น หลังเปิดเผยผลขาดทุนรายไตรมาสน้อยกว่าคาด ขณะที่หุ้นเซาท์เวสต์ แอร์ไลน์ส ร่วงลง หลังคาดว่าบริษัทจะยังคงเผชิญความยากลำบากในการทำกำไรในไตรมาสปัจจุบัน
หุ้น HP ปรับตัวขึ้น หลังโบรกเกอร์หลายรายปรับเพิ่มเป้าหมายราคาหุ้น หลัง HP คาดการณ์ผลกำไรในปีงบการเงิน 2565 และปรับเพิ่มเงินปันผลประจำปี
ส่วนการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐในวันพฤหัสบดีนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 6,000 ราย สู่ระดับ 290,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค.2563 ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในสหรัฐ โดยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานดังกล่าวต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 300,000 ราย
อย่างไรก็ดี ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกยังคงสูงกว่าระดับ 230,000 ราย ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยต่อสัปดาห์ในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในสหรัฐ
ขณะเดียวกัน กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า จำนวนชาวอเมริกันที่ยังคงขอรับสวัสดิการว่างงานต่อเนื่อง ลดลง 122,000 ราย สู่ระดับ 2.48 ล้านราย ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค. 2563 ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในสหรัฐ