ดัชนีดาวโจนส์พุ่งขึ้นกว่า 100 จุดในวันนี้ ขานรับผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่แข็งแกร่ง แม้สหรัฐเปิดเผยว่าเศรษฐกิจขยายตัวเพียง 2.0% ในไตรมาส 3 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบกว่า 1 ปี
ณ เวลา 20.49 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 35,666.12 จุด บวก 175.43 จุด หรือ 0.49%
บริษัทฟอร์ด, คอมแคสต์ และแคทเธอร์ พิลลาร์ต่างเปิดเผยผลประกอบการที่สูงกว่าคาดในไตรมาส 3
นักลงทุนจับตาผลประกอบการของบริษัทแอปเปิลและแอมะซอน ซึ่งจะมีการรายงานหลังปิดตลาดวันนี้
บริษัทจำนวนเกือบ 40% ในดัชนี S&P 500 ได้รายงานผลประกอบการในไตรมาส 3 แล้ว โดยมากกว่า 80% ในจำนวนดังกล่าวมีผลประกอบการสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ และนักวิเคราะห์คาดว่าบริษัทจดทะเบียนจะมีการขยายตัวของกำไรในไตรมาส 3 เพิ่มขึ้นถึง 37.6%
ราคาหุ้นของบริษัทเมอร์ค แอนด์ โค ซึ่งเป็นบริษัทยารายใหญ่ของสหรัฐ พุ่งขึ้นกว่า 3% ในการซื้อขายวันนี้ หลังจากบริษัทเปิดเผยตัวเลขกำไรสูงกว่าคาดในไตรมาส 3 พร้อมกับการปรับเพิ่มคาดการณ์กำไรประจำปีนี้
เมอร์คเปิดเผยตัวเลขกำไรสูงกว่าคาดในไตรมาส 3 โดยได้รับแรงหนุนจากยอดขายยา Keytruda ซึ่งเป็นยารักษาโรคมะเร็ง รวมทั้งยอดขาย Gardasil ซึ่งเป็นวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก
เมอร์คระบุว่า การปรับเพิ่มคาดการณ์กำไรประจำปีนี้ยังไม่รวมยอดขายยาโมลนูพิราเวียร์ ซึ่งเป็นยารักษาโรคโควิด-19 ซึ่งทางบริษัทได้ยื่นขออนุมัติการใช้ยาเป็นกรณีฉุกเฉินต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐ (FDA) เมื่อวันที่ 11 ต.ค. โดยคาดว่าจะได้รับการอนุมัติในช่วงต้นเดือนธ.ค. ซึ่งหากได้รับการอนุมัติก็จะทำให้บริษัทมีกำไรเพิ่มมากขึ้น
ก่อนหน้านี้ รัฐบาลสหรัฐได้สั่งซื้อยาโมลนูพิราเวียร์จากเมอร์คจำนวน 1.7 ล้านคอร์ส คิดเป็นวงเงิน 1,200 ล้านดอลลาร์
ทางด้านกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 สำหรับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 3/2564 ในวันนี้ โดยระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐมีการขยายตัวเพียง 2.0% ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ที่ระดับ 2.7%
การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐในไตรมาส 3 ถือว่าต่ำที่สุดนับตั้งแต่ที่เผชิญภาวะหดตัว 31.2% ในไตรมาส 2 ของปี 2563
ก่อนหน้านี้ เศรษฐกิจกิจสหรัฐเติบโต 6.7% ในไตรมาส 2 และ 6.3% ในไตรมาส 1
ทั้งนี้ เศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงในไตรมาส 3 ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา และการขาดแคลนวัตถุดิบในภาคการผลิต ซึ่งกระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน ทำให้ยอดขายรถยนต์ลดลง รวมทั้งตัวเลขการใช้จ่ายของผู้บริโภค
นอกจากนี้ เศรษฐกิจยังได้รับปัจจัยลบจากการปรับตัวลงของการลงทุนในสินทรัพย์คงที่ และการใช้จ่ายของรัฐบาลสหรัฐ รวมทั้งการพุ่งขึ้นของยอดขาดดุลการค้าสหรัฐ ซึ่งแตะระดับ 9.63 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนก.ย. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์
สำหรับในปี 2563 ที่ผ่านมานั้น เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 4.3% ในไตรมาส 4 หลังจากพุ่งขึ้น 33.4% ในไตรมาส 3 ซึ่งเป็นการขยายตัวสูงเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ที่สหรัฐเริ่มมีการรวบรวมข้อมูลในปี 2490 หรือมากกว่า 70 ปี จากการที่สหรัฐเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ขณะที่เศรษฐกิจหดตัว 31.2% ในไตรมาส 2 ซึ่งเป็นการหดตัวรุนแรงเป็นประวัติการณ์ และหดตัว 5% ในไตรมาส 1 ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอย เนื่องจากมีการหดตัว 2 ไตรมาสติดต่อกัน โดยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
ขณะเดียวกัน นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะมีการขยายตัว 7.0% ในปีนี้ ซึ่งจะเป็นการขยายตัวสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2527 หลังจากหดตัว 3.4% ในปีที่แล้ว ซึ่งเป็นการหดตัวรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2489
นักลงทุนจับตาการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันที่ 2-3 พ.ย. โดยคาดว่าเฟดอาจปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในการประชุมครั้งนี้
ส่วนการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐในวันนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 10,000 ราย สู่ระดับ 281,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค.2563 ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในสหรัฐ
นอกจากนี้ ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานดังกล่าวต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 290,000 ราย และต่ำกว่า 300,000 รายเป็นสัปดาห์ที่ 3 ติดต่อกัน
อย่างไรก็ดี ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกยังคงสูงกว่าระดับ 230,000 ราย ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยต่อสัปดาห์ในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในสหรัฐ