ตลาดหุ้นเอเชียปิดเช้าร่วง หวั่นวิกฤตเอเวอร์แกรนด์ลาม-จับตาเงินเฟ้อสหรัฐ

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday November 10, 2021 12:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ตลาดหุ้นเอเชียปิดภาคเช้าร่วงลง หลังถูกกดดันจากปัจจัยลบทั้งจากดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นสหรัฐที่ปิดในแดนลบเมื่อคืนนี้ รวมถึงความกังวลเกี่ยวกับวิกฤตหนี้สินของเอเวอร์แกรนด์ ขณะเดียวกัน นักลงทุนยังจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐในวันนี้

ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นปิดภาคเช้าที่ 29,197.00 จุด ลดลง 88.46 จุด หรือ -0.30% และดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกงปิดภาคเช้าที่ 24,520.94 จุด ลดลง 292.19 จุด หรือ -1.18%

นักลงทุนวิตกกังวลหลังธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผยรายงานเสถียรภาพด้านการเงินล่าสุด โดยเตือนว่า วิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นในภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนอาจลุกลามจนสร้างปัญหาให้กับระบบการเงินของสหรัฐ

รายงานได้ระบุถึงจีนว่า หนี้สินของจีนที่ระดับสูง และราคาอสังหาริมทรัพย์ของจีนที่พุ่งขึ้นนั้น ถือเป็นความเสี่ยงที่อาจลุกลามไปยังสหรัฐ ทั้งนี้ วิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นในภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนได้ถูกจับตาอย่างใกล้ชิดจากทั่วโลก นับตั้งแต่ไชน่า เอเวอร์แกรนด์ กรุ๊ป บริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่อันดับสองของจีนผิดนัดชำระหนี้ และเมื่อไม่นานมานี้ ตลาดหุ้นฮ่องกงประกาศระงับการซื้อขายหุ้นของบริษัทไคซา กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (Kaisa Group Holdings) และบริษัทในเครืออีก 3 แห่ง หลังจากที่ไคซา กรุ๊ปแจ้งว่า บริษัทในเครือแห่งหนึ่งผิดนัดชำระดอกเบี้ยผลิตภัณฑ์บริหารความมั่งคั่ง (Wealth Management Product)

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญในภูมิภาคที่รายงานไปแล้วนั้น สำนักงานสถิติแห่งชาติ (NBS) เผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เกิดจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ปรับตัวขึ้น 1.5% ในเดือนต.ค. เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งดีดตัวขึ้นอย่างรวดเร็วจากเดือนก.ย.ที่ขยายตัวเพียง 0.7% และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะเพิ่มขึ้น 1.4% ส่วนดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดต้นทุนสินค้าที่หน้าประตูโรงงาน พุ่งขึ้น 13.5% ในเดือนต.ค. เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งขยายตัวรวดเร็วกว่าในเดือนก.ย.ที่ปรับตัวขึ้น 10.7% และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 12.4% นอกจากนี้ ดัชนี PPI เดือนต.ค.ยังทำสถิติขยายตัวรวดเร็วที่สุดนับตั้งแต่ปี 2538 ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อกำไรของกลุ่มผู้ผลิต เนื่องจากราคาถ่านหินและสินค้าโภคภัณฑ์ประเภทอื่น ๆ ปรับตัวสูงขึ้น อันเป็นผลมาจากปัญหาขาดแคลนพลังงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ