ดาวโจนส์ร้อนแรงทะยานกว่า 600 จุด ขานรับสถิติชี้หุ้นพุ่งเดือนธ.ค.

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday December 3, 2021 00:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีดาวโจนส์พุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่องในวันนี้ ล่าสุดทะยานกว่า 600 จุด ขณะที่นักลงทุนคลายความวิตกเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน

นอกจากนี้ การซื้อขายในตลาดยังได้แรงหนุนจากรายงานที่ว่า แกนนำในสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐสามารถบรรลุข้อตกลงก่อนการลงมติต่อร่างกฎหมายเลี่ยงชัตดาวน์ในวันนี้

ณ เวลา 00.10 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 34,655.48 จุด บวก 633.44 จุด หรือ 1.86%

แบงก์ ออฟ อเมริกา เปิดเผยว่า สถิติในอดีตบ่งชี้ว่า เดือนธ.ค.เป็นเดือนที่ตลาดหุ้นสหรัฐพุ่งขึ้นร้อนแรงมากที่สุดของปี

ข้อมูลระบุว่า ดัชนี S&P 500 พุ่งขึ้นเฉลี่ย 2.3% ในเดือนธ.ค.นับตั้งแต่ปี 2479 และดัชนีปรับตัวเป็นบวกในเดือนธ.ค.คิดเป็นสัดส่วน 79% นับตั้งแต่ปีดังกล่าว

การดีดตัวขึ้นของตลาดหุ้นวอลล์สตรีทในเดือนธ.ค.ได้รับปัจจัยบวกจากปรากฎการณ์ "ซานต้า แรลลี่" ซึ่งมักเกิดขึ้นเป็นเวลา 7 วันทำการ โดยมีขึ้นในช่วง 5 วันทำการสุดท้ายของปีปัจจุบัน รวมทั้ง 2 วันแรกของปีใหม่

จากการรวบรวมสถิติการปรับตัวของตลาดหุ้นนิวยอร์กช่วง 7 วันของซานต้า แรลลี่ พบว่า ดัชนีดาวโจนส์สามารถปิดตลาดในแดนบวกถึง 78% นับตั้งแต่ปี 2471

สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐจะทำการลงมติต่อร่างกฎหมายงบประมาณชั่วคราวในวันนี้ เพื่อสนับสนุนหน่วยงานของรัฐบาลกลางสหรัฐให้มีงบประมาณใช้จ่ายจนถึงวันที่ 18 ก.พ.2565 และหลีกเลี่ยงไม่ให้หน่วยงานเหล่านี้ต้องถูกปิดการดำเนินงาน

ทางด้านนางโรซา เดอลอโร ประธานคณะกรรมาธิการจัดสรรงบประมาณประจำสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ กล่าวว่า แกนนำในสภาผู้แทนราษฎรสามารถบรรลุข้อตกลงกันแล้ว โดยการลงมติจะมีขึ้นในวันนี้ ก่อนถึงกำหนดเส้นตายในวันพรุ่งนี้

หากสภาผู้แทนราษฎรให้การอนุมัติร่างกฎหมายดังกล่าวในวันนี้ ก็จะส่งเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภาต่อไป ก่อนที่จะให้ประธานาธิบดีโจ ไบเดนลงนามรับรองเป็นกฎหมายภายในวันพรุ่งนี้

ดัชนีดาวโจนส์พุ่งขึ้นกว่า 500 จุดในการซื้อขายระหว่างวันเมื่อวานนี้ โดยได้แรงหนุนจากการเปิดเผยตัวเลขภาคการผลิตที่แข็งแกร่งของสหรัฐ, การจ้างงานของภาคเอกชนที่สูงกว่าคาด รวมทั้งคาดการณ์การเพิ่มขึ้นของตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรในวันพรุ่งนี้ ก่อนที่จะปิดตลาดร่วงลงกว่า 400 จุด หลังมีข่าวการพบผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนรายแรกในสหรัฐ

อย่างไรก็ดี หุ้นกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากการเปิดเศรษฐกิจ เช่น กลุ่มสายการบิน และกลุ่มธุรกิจเรือสำราญ ต่างพุ่งขึ้นในการซื้อขายวันนี้ แม้มีการพบผู้ติดเชื้อโอไมครอนในสหรัฐ และทำเนียบขาวได้ออกกฎคุมเข้มการเดินทาง โดยกำหนดให้ผู้ที่จะเดินทางเข้าสหรัฐจะต้องได้รับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ภายในเวลา 24 ชั่วโมงก่อนออกเดินทางมายังสหรัฐ

ราคาหุ้นโบอิ้งพุ่งขึ้นกว่า 3% หลังทางการจีนอนุมัติการบินสำหรับเครื่องบินรุ่น 737 Max

ทางด้านเจพีมอร์แกน เชส ออกรายงานระบุว่า ภาวะตลาดที่ปั่นป่วนในขณะนี้ ซึ่งมีสาเหตุจากไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนอาจเป็นโอกาสสำหรับนักลงทุนในการเข้าช้อนซื้อหุ้นกลุ่มเปิดประเทศและกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์

"แม้ว่าโอไมครอนจะระบาดได้รวดเร็วกว่า แต่รายงานก็บ่งชี้ว่าสายพันธุ์นี้มีความรุนแรงน้อยกว่า ซึ่งสอดคล้องกับรูปแบบวิวัฒนาการของไวรัสในอดีต และเรื่องนี้ถือเป็นปัจจัยบวกต่อตลาดสินทรัพย์เสี่ยง เนื่องจากเป็นการส่งสัญญาณว่าการแพร่ระบาดใกล้ยุติแล้ว" นายมาร์โก โคลาโนวิช และนายบราม แคปแลน นักวิเคราะห์ของเจพีมอร์แกน ระบุในรายงาน

"โอไมครอนสอดคล้องกับรูปแบบในอดีตที่บ่งชี้ว่า ไวรัสที่มีการแพร่ระบาดมากกว่า แต่มีความรุนแรงน้อยกว่า จะเข้ามาแทนที่ไวรัสสายพันธุ์ที่มีความรุนแรงมากกว่า ซึ่งจะทำให้โอไมครอนเป็นตัวเร่งให้การแพร่ระบาดอย่างรุนแรงของโควิด-19 กลายเป็นเพียงบางสิ่งที่คล้ายกับโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลเท่านั้น"

"ถ้าสถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น แทนที่ WHO ตั้งชื่อไวรัสสายพันธุ์ล่าสุดนี้ว่า โอไมครอน โดยข้ามอักษรกรีกไป 2 ตัว WHO ควรจะข้ามอักษรกรีกไปทุกตัว และตั้งชื่อไวรัสนี้ว่า โอเมกา ซึ่งเป็นอักษรกรีกตัวสุดท้าย"

"โอไมครอนอาจเป็นตัวเร่งให้เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรชันขึ้น (ไม่ใช่แบนราบลง) และทำให้นักลงทุนถอนตัวออกจากหุ้นในกลุ่ม growth stock เพื่อเข้าซื้อกลุ่ม value stock และมีการเทขายหุ้นกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากโควิดและมาตรการล็อกดาวน์ ขณะที่ทำให้หุ้นกลุ่มเปิดประเทศดีดตัวขึ้น โดยเรามองว่าการเทขายหุ้นในกลุ่มเหล่านี้ในช่วงที่ผ่านมา ถือเป็นโอกาสที่นักลงทุนจะเข้าช้อนซื้อหุ้นกลุ่มวัฏจักร, กลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ และกลุ่มเปิดประเทศ และปรับโพสิชั่นสำหรับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่จะดีดตัวและสูงชันขึ้น" รายงานระบุ

นายโคลาโนวิชยังระบุว่า ตลาดได้ปรับตัวรุนแรงเกินไปต่อการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์เดลตาก่อนหน้านี้

กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเพิ่มขึ้น 28,000 ราย สู่ระดับ 222,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว แต่ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 240,000 ราย

ขณะเดียวกัน กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า จำนวนชาวอเมริกันที่ยังคงขอรับสวัสดิการว่างงานต่อเนื่องลดลง 107,000 ราย สู่ระดับ 1.96 ล้านราย ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ปรับตัวต่ำกว่าระดับ 2 ล้านรายนับตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในเดือนมี.ค.2563

นักลงทุนจับตาตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐในวันพรุ่งนี้ โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า กระทรวงแรงงานสหรัฐจะรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรพุ่งขึ้น 581,000 ตำแหน่งในเดือนพ.ย. และคาดว่าอัตราการว่างงานจะปรับตัวลงสู่ระดับ 4.5%

กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยก่อนหน้านี้ว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 531,000 ตำแหน่งในเดือนต.ค. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 450,000 ตำแหน่ง จากระดับ 312,000 ตำแหน่งในเดือนก.ย. ส่วนอัตราการว่างงานปรับตัวลงสู่ระดับ 4.6% โดยต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 4.7% จากระดับ 4.8% ในเดือนก.ย.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ