ตลาดหุ้นยุโรปปิดบวกในวันจันทร์ (3 ม.ค.) ที่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในการซื้อขายวันแรกของปีใหม่ ท่ามกลางความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง แม้จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 พุ่งขึ้นจากการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนก็ตาม
ดัชนี Stoxx Europe 600 ปิดที่ 489.99 จุด เพิ่มขึ้น 2.19 จุด หรือ +0.45%
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 7,217.22 จุด เพิ่มขึ้น 64.19 จุด หรือ +0.90% และดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 16,020.73 จุด เพิ่มขึ้น 135.87 จุด หรือ +0.86% ส่วนตลาดหุ้นอังกฤษปิดทำการในวันจันทร์เนื่องในวันหยุดชดเชยวันขึ้นปีใหม่
ดัชนี Stoxx Europe 600 พุ่งขึ้น 22.4% ในปี 2564 ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นรายปีดีที่สุดอันดับ 2 นับตั้งแต่ปี 2562 เนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ, การขยายตัวของผลประกอบการ และการระดมฉีดวัคซีน ทำให้นักลงทุนเชื่อมั่นในการเข้าลงทุนในตลาดหุ้น
หุ้นกลุ่มรถยนต์ บวก 2.4% และนำตลาดหุ้นยุโรปปรับตัวขึ้น หลังการเปิดเผยรายงานการผลิตในเชิงบวก และผู้ผลิตรถยนต์ระดับโลกได้รายงานเป้าหมายการผลิตประจำปี อาทิ ฮุนได และเทสลา
หุ้นกลุ่มธนาคาร ปรับตัวขึ้น 0.9% หลังอัตราผลตอบแทนพันธบัตรยูโรโซนปรับตัวขึ้น โดยหุ้นกลุ่มธนาคารปรับตัวขึ้นมากที่สุดในตลาดหุ้นยุโรปในปี 2564 เนื่องจากเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นทำให้บรรดาเทรดเดอร์คาดว่าจะมีการคุมเข้มนโยบายการเงินเร็วขึ้นทั่วโลก
หุ้นแอร์บัส ปรับตัวขึ้น 3.4% หลังแหล่งข่าวเปิดเผยว่า แอร์บัสได้ส่งมอบเครื่องบินเกิน 600 ลำในปี 2564
หุ้นลุฟท์ฮันซ่า พุ่ง 8.9% หลังซิตี้ปรับเพิ่มคำแนะนำลงทุนเป็น "ซื้อ" จาก "ขาย" โดยคาดว่า สายการบินลุฟท์ฮันซ่า จะได้ประโยชน์จากการเปิดเส้นทางบินในเอเชีย โดยเฉพาะจีน
หุ้นแอร์ฟรานซ์ เคแอลเอ็ม ปรับตัวขึ้น 4.9% หลังโบรกเกอร์แนะนำให้คงน้ำหนักการลงทุน (neutral)
ไอเอชเอส มาร์กิต ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการข้อมูลทางการเงิน เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายของยูโรโซน ปรับตัวลงเพียงเล็กน้อยที่ระดับ 58.0 ในเดือนธ.ค. จากระดับ 58.4 ในเดือนพ.ย. ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลคาดการณ์ขั้นต้น
ดัชนี PMI ยังคงปรับตัวสูงกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่า ภาคการผลิตของยูโรโซนยังคงมีการขยายตัว เนื่องจากปัญหาห่วงโซ่อุปทานชะงักงันเริ่มคลี่คลายลง รวมถึงยอดการสั่งซื้อวัตถุดิบที่ปรับตัวขึ้นอย่างมาก
ขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทั่วโลก แต่นักลงทุนก็คลายความวิตกจากการที่ไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนนั้นมีความรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์เดลตา