ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบในวันศุกร์ (7 ม.ค.) และปรับตัวลงในสัปดาห์แรกของปีใหม่นี้ เนื่องจากนักลงทุนขายหุ้นออกมาท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในสหรัฐ และการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน
ทั้งนี้ ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 36,231.66 จุด ลดลง 4.81 จุด หรือ -0.013%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,677.03 จุด ลดลง 19.02 จุด หรือ -0.41% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 14,935.90 จุด ลดลง 144.96 จุด หรือ -0.96%
ในสัปดาห์แรกของปีใหม่นี้ ดัชนีดาวโจนส์ติดลบ 0.3%, ดัชนี S&P500 ลดลง 1.9% และดัชนี Nasdaq ปรับตัวลง 4.5% ซึ่งเป็นการปรับตัวลงรายสัปดาห์รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.พ. 2564
ตลาดหุ้นนิวยอร์กปรับตัวลง หลังรายงานการจ้างงานล่าสุดของสหรัฐได้ตอกย้ำความวิตกของนักลงทุนที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดกั้นเงินเฟ้อ
บรรดานักลงทุนคาดว่า เฟดจะยังคงเดินหน้าแผนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) แม้กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่น่าผิดหวังในวันศุกร์ (7 ม.ค.) โดยเพิ่มขึ้นเพียง 199,000 ตำแหน่งในเดือนธ.ค. ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 422,000 ตำแหน่ง
อย่างไรก็ตาม รายงานการจ้างงานดังกล่าวบ่งชี้ถึงเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น และภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงานเพิ่มขึ้น 0.6% เมื่อเทียบรายเดือน และพุ่งขึ้น 4.7% เมื่อเทียบรายปี ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ ขณะที่อัตราการว่างงานปรับตัวลงสู่ระดับ 3.9% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนก.พ. 2563 และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 4.1%
รายงานการประชุมวันที่ 14-15 ธ.ค.ของเฟดที่เปิดเผยเมื่อวันพุธ (5 ม.ค.) ที่ผ่านมาบ่งชี้ว่า เฟดมองว่าตลาดแรงงานตึงตัวอย่างมาก และส่งสัญญาณว่า เฟดอาจจะต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าคาดเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ
หุ้นกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยและกลุ่มเทคโนโลยีในดัชนี S&P500 นำตลาดปรับตัวลง ขณะที่กลุ่มการเงินและกลุ่มธนาคารปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง โดยได้แรงหนุนจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐที่ปรับตัวขึ้น โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนม.ค. 2563
นอกจากนี้ บรรดานักลงทุนยังคงวิตกเกี่ยวกับจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโอมิครอนที่เพิ่มขึ้นในสหรัฐ
นักลงทุนได้เทขายหุ้นกลุ่มเติบโต อาทิ กลุ่มเทคโนโลยี และเข้าซื้อหุ้นมูลค่าซึ่งคาดว่าจะปรับตัวได้ดีกว่าในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูง
ส่วนหุ้นกลุ่มพลังงานในดัชนี S&P500 ปรับตัวขึ้นอย่างมากในสัปดาห์นี้
สำหรับการซื้อขายในสัปดาห์หน้านั้น ตลาดอาจจะได้รับผลกระทบจากการรายงานข้อมูลเงินเฟ้อจากดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาผู้ผลิต, ยอดค้าปลีก และข้อมูลการผลิตภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐ รวมถึงการแถลงของนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟดต่อคณะกรรมาธิการด้านการธนาคารประจำวุฒิสภาเกี่ยวกับการเสนอชื่อนายพาวเวลให้ดำรงตำแหน่งประธานเฟดเป็นสมัยที่ 2