ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 400 จุดในวันศุกร์ (21 ม.ค.) โดยถูกกดดันจากหุ้นเน็ตฟลิกซ์ซึ่งดิ่งลงอย่างหนักหลังเปิดเผยผลประกอบการที่อ่อนแอ ขณะที่ดัชนี S&P500 และดัชนี Nasdaq ร่วงลงรายสัปดาห์มากที่สุดเมื่อคิดเป็นเปอร์เซ็นต์นับตั้งแต่โรคโควิด-19 เริ่มแพร่ระบาดในเดือนมี.ค. 2563
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 34,265.37 จุด ร่วงลง 450.02 จุด หรือ -1.30%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,397.94 จุด ร่วงลง 84.79 จุด หรือ -1.89% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 13,768.92 จุด ร่วงลง 385.10 จุด หรือ -2.72%
ในรอบสัปดาห์นี้ ดัชนีดาวโจนส์ ลดลง 4.6%, ดัชนี S&P500 ร่วงลง 5.7% และดัชนี Nasdaq ร่วงลง 7.6%
ดัชนีดาวโจนส์ปรับตัวลงเป็นวันที่ 6 ติดต่อกัน ซึ่งเป็นการปรับตัวลงติดต่อกันนานที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.พ. 2563
ดัชนี S&P500 ปรับตัวลงติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 3 และลดลง 8.3% แล้วจากระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในช่วงต้นเดือนม.ค. และดัชนี S&P500 ยังปิดตลาดต่ำกว่าเส้นค่าเฉลี่ยในรอบ 200 วันซึ่งเป็นระดับทางเทคนิคที่สำคัญเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนมิ.ย. 2563
ดัชนี Nasdaq ร่วงลงอย่างรุนแรง โดยเข้าสู่การปรับฐานหลังร่วงลงกว่า 10% แล้วจากระดับสูงสุดในเดือนพ.ย. โดยดัชนี Nasdaq ร่วงลง 14.3% จากระดับสูงสุดในเดือนพ.ย. และปิดตลาดวันศุกร์ที่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนมิ.ย. 2564
นักวิเคราะห์รายหนึ่งระบุว่า ตลาดถูกกดดันจากแรงเทขายหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี และการเปิดเผยผลประกอบการที่อ่อนแอจากบริษัทเน็ตฟลิกซ์
หุ้นเน็ตฟลิกซ์ ดิ่งลง 21.8% ซึ่งถ่วงดัชนี S&P500 และ Nasdaq ร่วงลง หลังจากคาดว่า การขยายตัวของสมาชิกจะอ่อนแอ ขณะที่หุ้นวอลต์ ดิสนีย์ ร่วงลง 6.9% ซึ่งส่งผลกดดันดัชนีดาวโจนส์
นอกจากนี้ การปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตร และความวิตกว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อควบคุมเงินเฟ้อนั้น ได้ส่งผลกระทบต่อหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีและกลุ่มเติบโต
บรรดานักลงทุนจะมุ่งความสนใจไปที่การประชุมเฟดในสัปดาห์หน้า เพื่อดูความชัดเจนว่า เฟดมีแผนจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนต่อ ๆ ไปหรือไม่ หลังข้อมูลเศรษฐกิจเมื่อสัปดาห์ที่แล้วบ่งชี้ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนธ.ค.พุ่งขึ้นรายปีมากที่สุดในรอบเกือบ 40 ปี
นอกจากนี้ นักลงทุนจะจับตาการรายงานผลประกอบการของบริษัทแอปเปิล, เทสลา และไมโครซอฟต์ในสัปดาห์หน้า