ดัชนีดาวโจนส์ฟิวเจอร์ลดช่วงติดลบในวันนี้ หลังรัสเซียส่งสัญญาณใช้แนวทางการทูตแก้วิกฤตยูเครน
ณ เวลา 21.05 น.ตามเวลาไทย ดัชนีดาวโจนส์ฟิวเจอร์ลบ 21 จุด หรือ 0.06% สู่ระดับ 34,606 จุด หลังจากดิ่งลงกว่า 200 จุดในช่วงแรก
นายเซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย กล่าวต่อประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ในวันนี้ว่า รัสเซียควรดำเนินการเจรจากับสหรัฐและชาติตะวันตกต่อไปเกี่ยวกับข้อเรียกร้องด้านความมั่นคงของรัสเซีย ท่ามกลางสถานการณ์ตึงเครียดในยูเครน
คำกล่าวของนายลาฟรอฟเป็นการส่งสัญญาณว่ารัสเซียจะยังคงใช้แนวทางการทูตในการคลี่คลายวิกฤตการณ์ยูเครน แม้สหรัฐเตือนว่ารัสเซียอาจทำการโจมตียูเครนได้ทุกเมื่อ
ทั้งนี้ รัสเซียยื่นข้อเรียกร้องต่อสหรัฐและชาติตะวันตกเพื่อให้มีการรับประกันว่า องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) จะไม่รับยูเครนและประเทศซึ่งเคยอยู่ในอดีตสหภาพโซเวียตเข้าเป็นสมาชิก ขณะที่สหรัฐและพันธมิตรจะต้องถอนกำลังทหารออกจากกลุ่มประเทศอดีตสหภาพโซเวียต
นายลาฟรอฟกล่าวว่า รัสเซียควรเจรจาต่อไป แม้ว่าสหรัฐและนาโตได้ปฏิเสธข้อเรียกร้องดังกล่าวของรัสเซีย แต่สหรัฐก็ได้เสนอที่จะจำกัดการติดตั้งขีปนาวุธในยุโรป และลดขนาดการซ้อมรบ รวมทั้งยื่นข้อเสนออื่นๆต่อรัสเซีย
ขณะเดียวกัน ตลาดจับตาแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)
นักลงทุนเพิ่มคาดการณ์ที่ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 7 ครั้งในปีนี้ หลังสหรัฐเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อพุ่งขึ้นสูงสุดในรอบ 40 ปี รวมทั้งเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานที่แข็งแกร่ง
ทั้งนี้ FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนักมากถึง 55% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 7 ครั้งในปีนี้ โดยคาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมทั้ง 7 ครั้งที่เหลือในปีนี้ เริ่มตั้งแต่เดือนมี.ค.
นอกจากนี้ นักลงทุนให้น้ำหนักมากถึง 88% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในเดือนมี.ค. รวมทั้งให้น้ำหนัก 95% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างน้อย 1.00% ภายในเดือนมิ.ย.
นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด กล่าวก่อนหน้านี้ว่า เขาเชื่อว่าเฟดยังคงสามารถขึ้นอัตราดอกเบี้ย "ได้อีกมาก" โดยไม่ส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงาน
นักวิเคราะห์จากหลายสำนักต่างพากันปรับเพิ่มคาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดในปีนี้ หลังจากที่สหรัฐเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อพุ่งสูงสุดในรอบ 40 ปี
โกลด์แมน แซคส์คาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 7 ครั้งในปีนี้ โดยปรับขึ้นครั้งละ 0.25% จากเดิมที่คาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 5 ครั้ง
การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 7 ครั้งดังกล่าวจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดพุ่งแตะ 1.75-2.00% ในปลายปีนี้ จากปัจจุบันที่ระดับ 0.00-0.25%
ทางด้านแบงก์ ออฟ อเมริกาคาดการณ์ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 7 ครั้งในปีนี้เช่นกัน โดยปรับขึ้นครั้งละ 0.25%
ทั้งนี้ แบงก์ ออฟ อเมริกานับเป็นสถาบันการเงินแห่งแรกที่คาดการณ์ว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 7 ครั้งในปีนี้
ส่วนเอชเอสบีซีคาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในเดือนมี.ค. และปรับขึ้นอีก 4 ครั้งหลังจากนั้น โดยปรับขึ้นครั้งละ 0.25% ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดพุ่งแตะ 1.50-1.75% ในปลายปีนี้
ทางด้านดอยซ์แบงก์คาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในเดือนมี.ค. และปรับขึ้นอีก 5 ครั้งหลังจากนั้น โดยปรับขึ้นครั้งละ 0.25% ส่งผลให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรวม 1.75% ในปีนี้