ดาวโจนส์ทรุดกว่า 800 จุด หุ้นร่วงยกแผง กังวลวิกฤตการณ์ยูเครน

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday February 24, 2022 22:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีดาวโจนส์ทรุดตัวลงกว่า 800 จุดในวันนี้ ท่ามกลางความกังวลต่อวิกฤตการณ์ในยูเครน

ณ เวลา 21.47 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 32,327.10 จุด ลบ 804.66 จุด หรือ 2.43% ขณะที่ดัชนี S&P 500 และดัชนี Nasdaq ดิ่งลงกว่า 2%

หุ้นทุกกลุ่มต่างร่วงลงในวันนี้ ซึ่งรวมถึงหุ้นกลุ่มพลังงาน แม้ว่าราคาน้ำมันทะยานขึ้นเหนือระดับ 100 ดอลลาร์/บาร์เรล

ดัชนีความผันผวน CBOE หรือ CBOE Volatility Index (VIX) ซึ่งเป็นมาตรวัดความวิตกของนักลงทุนในตลาดหุ้นวอลล์สตรีท พุ่งขึ้น 13.64% สู่ระดับ 35.25

ทั้งนี้ รัสเซียได้บุกโจมตียูเครนทั้งทางบก ทะเล และอากาศในวันนี้ ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์รุกรานประเทศครั้งใหญ่ที่สุดในยุโรปนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2

นายดมิทรี เพสคอฟ โฆษกทำเนียบเครมลิน กล่าวว่า การที่กองทัพรัสเซียบุกเข้าไปยังยูเครนมีสาเหตุจากการที่รัสเซียต้องการปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ

นายโอเลกซี อาเรสโตวิช ที่ปรึกษาของประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน กล่าวว่า ทหารยูเครนมากกว่า 40 นายได้เสียชีวิต ขณะที่บาดเจ็บหลายสิบนายในการสู้รบกับกองกำลังรัสเซียในวันนี้

ทางด้านนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะกล่าวแถลงการณ์รอบครึ่งปีว่าด้วยนโยบายการเงินและภาวะเศรษฐกิจสหรัฐต่อสภาคองเกรสในวันที่ 2-3 มี.ค. โดยอาจเป็นการแสดงความเห็นเกี่ยวกับนโยบายการเงินต่อสาธารณะเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนที่เฟดจะเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 15-16 มี.ค.

ทั้งนี้ นายพาวเวลจะกล่าวถ้อยแถลงต่อคณะกรรมาธิการบริการการเงินประจำสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐในวันที่ 2 มี.ค. และต่อคณะกรรมาธิการการธนาคารประจำวุฒิสภาในวันที่ 3 มี.ค. โดยการแถลงทั้งสองวันจะเริ่มขึ้นในเวลา 10.00 น.ตามเวลาสหรัฐ หรือ 22.00 น.ตามเวลาไทย

ส่วนการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐในวันนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งที่ 2 สำหรับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 4/2564 ในวันนี้ โดยระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐมีการขยายตัว 7.0% สูงกว่าตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 6.9% และสอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์

ก่อนหน้านี้ เศรษฐกิจกิจสหรัฐเติบโต 6.3% ในไตรมาส 1/2564 และ 6.7% ในไตรมาส 2 ก่อนที่จะชะลอตัวสู่ 2.3% ในไตรมาส 3 เนื่องจากการขาดแคลนวัตถุดิบในภาคการผลิต ซึ่งกระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน ทำให้ยอดขายรถยนต์ และตัวเลขการใช้จ่ายของผู้บริโภคลดลง

เมื่อพิจารณาทั้งปี 2564 เศรษฐกิจสหรัฐมีการขยายตัว 5.7% ซึ่งเป็นตัวเลขสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2527 หลังจากที่หดตัว 3.4% ในปี 2563 ซึ่งเป็นการหดตัวรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2489 โดยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 17,000 ตำแหน่ง สู่ระดับ 232,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว โดยต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 235,000 ราย

อย่างไรก็ดี ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกยังคงสูงกว่าระดับ 215,000 ราย ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยต่อสัปดาห์ในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในสหรัฐ

ขณะเดียวกัน กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า จำนวนชาวอเมริกันที่ยังคงขอรับสวัสดิการว่างงานต่อเนื่องลดลงสู่ระดับ 1.48 ล้านราย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ