ดัชนีดาวโจนส์พุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่องในวันนี้ ล่าสุดทะยานกว่า 500 จุด โดยหุ้นปรับตัวขึ้นทุกกลุ่ม ขณะที่นักลงทุนพากันช้อนซื้อหุ้นที่ดิ่งลงในการซื้อขายก่อนหน้านี้
ณ เวลา 23.17 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 33,871.35 จุด บวก 576.40 จุด หรือ 1.73%
ดัชนีความผันผวน CBOE หรือ CBOE Volatility Index (VIX) ซึ่งเป็นมาตรวัดความวิตกของนักลงทุนในตลาดหุ้นวอลล์สตรีท ร่วงลง 5.91% สู่ระดับ 31.35
หุ้นกลุ่มพลังงานพุ่งขึ้นนำตลาด โดยได้ปัจจัยบวกจากการทะยานขึ้นของราคาน้ำมันในตลาดโลก โดยสัญญาล่วงหน้า WTI พุ่งขึ้นเหนือระดับ 112 ดอลลาร์ ขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์พุ่งเหนือ 113 ดอลลาร์ ขานรับผลการประชุมของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส
นักลงทุนจับตาวิกฤตการณ์ในยูเครน โดยคณะผู้แทนของรัสเซียและยูเครนจะจัดการเจรจาสันติภาพรอบ 2 ในวันนี้ หลังจากที่ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงในการเจรจารอบแรก
นอกจากนี้ นักลงทุนติดตามถ้อยแถลงของนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ต่อคณะกรรมาธิการบริการการเงินประจำสภาผู้แทนราษฎรในวันนี้
ทั้งนี้ นายพาวเวลระบุว่า เฟดจะยังคงทำตามแผนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนนี้เพื่อควบคุมเงินเฟ้อ แม้ว่าวิกฤตการณ์ในยูเครนได้สร้างความไม่แน่นอนอย่างมากต่อแนวโน้มในอนาคต
นายพาวเวลระบุว่า เงินเฟ้อที่พุ่งสูงและตลาดแรงงานที่ตึงตัวอย่างมากเป็นสาเหตุที่ทำให้เฟดต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
"เราคาดว่าจะเป็นการเหมาะสมที่เฟดจะปรับขึ้นเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นในการประชุมของเราในเดือนนี้ และเฟดจะทำการปรับลดขนาดงบดุลภายในปีนี้ จากปัจจุบันที่ระดับ 8.5 ล้านล้านดอลลาร์"
"ผลกระทบในระยะใกล้ต่อเศรษฐกิจสหรัฐจากการที่รัสเซียรุกรานยูเครน, สงครามที่เกิดขึ้น, มาตรการคว่ำบาตร และเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นต่อไป ยังคงมีความไม่แน่นอนอย่างมาก โดยเราจะต้องดำเนินการตามข้อมูลที่ได้รับ และแนวโน้มที่เปลี่ยนแปลงไป" นายพาวเวลกล่าว
อย่างไรก็ดี นายพาวเวลไม่ได้ส่งสัญญาณว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วและแรงเท่าใด โดยระบุแต่เพียงว่า เฟดคาดหวังว่าอัตราเงินเฟ้อจะชะลอตัวลงในปีนี้
นอกจากนี้ นายพาวเวลระบุว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบที่เบาบางลงต่อเศรษฐกิจ ขณะที่การจ้างงานยังคงแข็งแกร่ง และเงินเฟ้อถือเป็นปัจจัยความเสี่ยงที่สำคัญที่สุด
ส่วนการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐในวันนี้ ออโตเมติก ดาต้า โพรเซสซิ่ง อิงค์ (ADP) และมูดี้ส์ อนาลิติกส์ เปิดเผยว่า การจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐเพิ่มขึ้น 475,000 ตำแหน่งในเดือนก.พ. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 400,000 ตำแหน่ง
นอกจากนี้ ADP ได้ปรับตัวเลขการจ้างงานในเดือนม.ค.เป็นเพิ่มขึ้น 509,000 ตำแหน่ง จากเดิมรายงานว่าลดลง 301,000 ตำแหน่ง
ภาคบริการมีการจ้างงาน 419,000 ตำแหน่งในเดือนก.พ. ขณะที่ภาคการผลิตมีการจ้างงาน 56,000 ตำแหน่ง
ทางด้านกระทรวงแรงงานสหรัฐจะเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือนก.พ.ในวันศุกร์นี้ ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ตัวเลขจ้างงานจะเพิ่มขึ้น 415,000 ตำแหน่งในเดือนดังกล่าว
ก่อนหน้านี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรพุ่งขึ้น 467,000 ตำแหน่งในเดือนม.ค. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 150,000 ตำแหน่ง ส่วนอัตราการว่างงานปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 4.0% สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.9%