ดาวโจนส์พลิกร่วงแดนลบ หลังราคาน้ำมันพุ่ง

ข่าวหุ้น-การเงิน Saturday March 26, 2022 00:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีดาวโจนส์พลิกร่วงลงสู่แดนลบ หลังราคาน้ำมันพุ่งขึ้น ขณะที่มีรายงานว่า เกิดเหตุเพลิงไหม้ที่โรงงานน้ำมันในซาอุดีอาระเบีย

ณ เวลา 23.38 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 34,691.70 จุด ลบ 16.24 จุด หรือ 0.05%

ดัชนี Nasdaq ดิ่งลง 0.93% หลังอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีพุ่งขึ้นทะลุ 2.50% แตะระดับสูงสุดในรอบเกือบ 3 ปี

ทั้งนี้ พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีถือเป็นพันธบัตรที่ใช้อ้างอิงในการกำหนดราคาของตราสารหนี้ทั่วโลก ซึ่งรวมถึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนอง หากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับตัวขึ้น จะทำให้บริษัทต่างๆ เผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้นจากการชำระหนี้ ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทเหล่านี้ลดการลงทุน และลดการจ่ายเงินปันผลแก่นักลงทุน

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ขณะนี้เกิดเหตุเพลิงไหม้ที่โรงงานน้ำมันของบริษัทซาอุดี อารามโคในเมืองเจดดาห์ของซาอุดีอาระเบีย ส่งผลให้มีควันไฟพวยพุ่งจำนวนมาก

สื่อรายงานว่า เหตุเพลิงไหม้ดังกล่าวอาจเกิดจากการโจมตีด้วยขีปนาวุธจากกลุ่มกบฏฮูตีในเยเมน หลังจากที่กลุ่มดังกล่าวระบุว่าจะมีการออกแถลงการณ์ในไม่ช้าเกี่ยวกับปฏิบัติการทางทหารในซาอุดีอาระเบีย

ล่าสุด สัญญาล่วงหน้า WTI ทะลุระดับ 113 ดอลลาร์ และราคาน้ำมันดิบเบรนท์ทะลุ 120 ดอลลาร์

นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยังได้รับผลกระทบจากการที่นางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐ กล่าวเตือนว่า วิกฤตการณ์รัสเซีย-ยูเครนกำลังทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์พุ่งขึ้น และจะส่งผลกระทบต่อแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกไปจนถึงปีหน้า

ทั้งนี้ รัสเซียเป็นผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ของโลก ขณะที่ยูเครนเป็นผู้ส่งออกข้าวโพดและข้าวสาลีรายใหญ่ของโลก ซึ่งราคาสินค้าดังกล่าวได้ทะยานขึ้นนับตั้งแต่ที่รัสเซียส่งกำลังทหารบุกโจมตียูเครนเมื่อวันที่ 24 ก.พ.

ธนาคารขนาดใหญ่ของสหรัฐคาดการณ์ว่า เฟดจะเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมปีนี้เพื่อสกัดเงินเฟ้อ หลังการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง รวมทั้งการแสดงความเห็นของเจ้าหน้าที่เฟดในช่วงที่ผ่านมา

ทั้งนี้ โกลด์แมน แซคส์คาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมเดือนพ.ค.และมิ.ย.

ส่วนแบงก์ ออฟ อเมริกาคาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมเดือนมิ.ย.และก.ค. และจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมทุกครั้งหลังจากนั้นถึงสิ้นปีนี้

นอกจากนี้ นักลงทุนเพิ่มการคาดการณ์ที่ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมครั้งต่อไปในเดือนพ.ค.

ทั้งนี้ FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 76.8% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมวันที่ 3-4 พ.ค. เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ระดับ 32.9% เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ส่งสัญญาณเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยระบุว่า อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงเกินไป ซึ่งหากจำเป็น เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่า 0.25% ในการประชุมหนึ่งครั้งหรือหลายครั้ง

นายคริสโตเฟอร์ วอลเลอร์ หนึ่งในผู้ว่าการเฟด กล่าวว่า เฟดอาจจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% จำนวน 1 ครั้งหรือมากกว่านั้นในปีนี้เพื่อสกัดเงินเฟ้อ

ความเห็นของนายวอลเลอร์สอดคล้องกับนายเจมส์ บูลลาร์ด ประธานเฟด สาขาเซนต์หลุยส์ ซึ่งกล่าวว่า เฟดควรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 12 ครั้งในปีนี้ เพื่อแสดงว่าเฟดมีความจริงจังในการต่อสู้กับเงินเฟ้อซึ่งพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี

นายบูลลาร์ดกล่าวว่า เขาต้องการให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยให้อยู่สูงกว่า 3% จากระดับใกล้ 0% ในขณะนี้

ก่อนหน้านี้ นายบูลลาร์ดเป็นเจ้าหน้าที่เฟดเพียงรายเดียวที่ลงมติให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมเดือนนี้ ขณะที่เฟดมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 0.25-0.50% ซึ่งเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนธ.ค.2561

ดาวโจนส์ยังถูกกระทบจากการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจที่อ่อนแอในวันนี้

ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐปรับตัวลงสู่ระดับ 59.4 ในเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบกว่า 10 ปี จากระดับ 62.8 ในเดือนก.พ. และต่ำกว่าตัวเลขเบื้องต้นที่ระดับ 59.7

ดัชนีความเชื่อมั่นได้รับผลกระทบจากความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้น หลังการทะยานขึ้นของราคาน้ำมัน

ผู้บริโภคจำนวน 32% แสดงความกังวลเกี่ยวกับสถานะการเงินในปีนี้ ซึ่งเป็นจำนวนสูงเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่เริ่มมีการสำรวจในช่วงกลางทศวรรษ 1940

ทางด้านสมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติของสหรัฐ (NAR) เปิดเผยว่า ดัชนีการทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย (pending home sales) ดิ่งลง 4.1% ในเดือนก.พ. เมื่อเทียบรายเดือน สู่ระดับ 104.9 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ค.2563 และปรับตัวลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ