ดัชนีดาวโจนส์ฟิวเจอร์ยังคงดีดตัวขึ้นในวันนี้ หลังจากที่สหรัฐเปิดเผยตัวเลขจ้างงานต่ำกว่าคาด ซึ่งจะช่วยให้นักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)
ณ เวลา 19.49 น.ตามเวลาไทย ดัชนีดาวโจนส์ฟิวเจอร์บวก 135 จุด หรือ 0.39% สู่ระดับ 34,753 จุด
ดัชนีดาวโจนส์ร่วงลงกว่า 500 จุดวานนี้ เนื่องจากนักลงทุนยังคงวิตกเกี่ยวกับสงครามรัสเซีย-ยูเครน รวมทั้งกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อ หลังจากสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) พุ่งสูงสุดในรอบเกือบ 40 ปี
เมื่อพิจารณาการปรับตัวของตลาดหุ้นสหรัฐในไตรมาส 1/65 พบว่า ดัชนีดาวโจนส์และ S&P 500 ดิ่งลง 4.5% และ 4.9% ตามลำดับ ขณะที่ Nasdaq ทรุดตัวลงกว่า 9% ซึ่งเป็นการปรับตัวย่ำแย่ที่สุดของดัชนีทั้ง 3 เมื่อเทียบรายไตรมาสนับตั้งแต่เดือนมี.ค.2563 ซึ่งขณะนั้นโควิด-19 กำลังเริ่มแพร่ระบาดในสหรัฐ
กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 431,000 ตำแหน่งในเดือนมี.ค. ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 490,000 ตำแหน่ง
ส่วนอัตราการว่างงานปรับตัวลงสู่ระดับ 3.6% ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.7%
กระทรวงแรงงานสหรัฐยังได้ปรับตัวเลขการจ้างงานในเดือนม.ค. โดยปรับเป็นเพิ่มขึ้น 504,000 ตำแหน่ง จากเดิมรายงานว่าเพิ่มขึ้น 481,000 ตำแหน่ง และปรับตัวเลขการจ้างงานในเดือนก.พ. โดยปรับเป็นเพิ่มขึ้น 750,000 ตำแหน่ง จากเดิมรายงานว่าเพิ่มขึ้น 678,000 ตำแหน่ง
กระทรวงแรงงานสหรัฐระบุว่าภาคเอกชนมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 426,000 ตำแหน่ง ขณะที่ภาครัฐจ้างงานเพิ่มขึ้น 5,000 ตำแหน่ง
ขณะเดียวกัน ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน เพิ่มขึ้น 0.4% สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์
ทั้งนี้ ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงนับเป็นข้อมูลที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญเพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ภาวะเงินเฟ้อ
ส่วนตัวเลขอัตราการเข้าสู่ตลาดแรงงานของสหรัฐ ซึ่งแสดงสัดส่วนของกำลังแรงงานต่อจำนวนประชากรทั้งหมด อยู่ที่ระดับ 62.4%