ตลาดหุ้นเอเชียปิดภาคเช้าร่วงลงเป็นส่วนใหญ่ โดยถูกดันจากภาวะการซื้อขายที่ผันผวนในตลาดหุ้นนิวยอร์ก ขณะที่นักลงทุนจับตาภาวะเงินเฟ้อ รวมถึงการประชุมของธนาคารกลางหลายแห่งในสัปดาห์นี้เพื่อดูทิศทางเงินเฟ้อ นอกจากนี้ นักลงทุนยังจับตาสถานการณ์โควิด-19 ที่ระบาดในเมืองเซี่ยงไฮ้ของจีน รวมถึงสงครามในยูเครนและรัสเซีย
ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นปิดภาคเช้าที่ระดับ 26,793.46 จุด ลดลง 192.34 จุด หรือ -0.71%, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกงปิดภาคเช้าที่ 21,336.37 จุด ลดลง 535.64 จุด หรือ -2.45% และดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีนปิดภาคเช้าที่ 3,195.07 จุด ลดลง 56.78 จุด หรือ -1.75%
นักลงทุนยังคงจับตาสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศจีน โดยล่าสุด นครเซี่ยงไฮ้ประกาศตรวจหาเชื้อโควิด-19 ให้กับประชาชนจำนวนมากอีกครั้ง เช่นเดียวกับนครกว่างโจว โดยสำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในเซี่ยงไฮ้เพิ่มสูงเป็นประวัติการณ์อยู่ที่ 26,087 ราย เมื่อวานนี้ (10 เม.ย.) เพิ่มขึ้นจากระดับ 9,006 รายที่พบเมื่อวันที่ 3 เม.ย.
ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจในภูมิภาคที่รายงานไปแล้วนั้น สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) เผยว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดต้นทุนสินค้าที่หน้าประตูโรงงาน ปรับตัวขึ้น 8.3% ในเดือนมี.ค. เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์ในโพลสำรวจของสำนักข่าวรอยเตอร์คาดว่าจะขยายตัว 7.9%
การพุ่งขึ้นของดัชนี PPI สะท้อนให้เห็นว่า จีนยังคงเผชิญกับต้นทุนราคาสินค้าที่สูงขึ้น อันเนื่องมาจากสงครามที่ยืดเยื้อระหว่างรัสเซียและยูเครน รวมทั้งปัญหาคอขวดด้านอุปทาน
ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เกิดจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ปรับตัวขึ้น 1.5% ในเดือนมี.ค. เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 1.2% ขณะที่ดัชนี CPI พื้นฐานซึ่งไม่นับรวมราคาในหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 1.1% ในเดือนมี.ค.
ทั้งนี้ เศรษฐกิจจีนซึ่งใหญ่เป็นอันดับสองของโลกยังคงถูกกดดันจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งมาตรการดังกล่าวส่งผลกระทบอย่างหนักต่อกิจกรรมในภาคการผลิต โดยผลสำรวจของมาร์กิตและไฉซินระบุว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของจีนในเดือนมี.ค.ร่วงลงสู่ระดับ 48.1 จากระดับ 50.4 ในเดือนก.พ. โดยดัชนี PMI เดือนมี.ค.หดตัวลงรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.พ. 2563