ดาวโจนส์ร้อนแรงพุ่งกว่า 500 จุด ขานรับผลประกอบการแกร่ง เมิน GDP วูบ

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday April 29, 2022 00:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีดาวโจนส์ดีดตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องในวันนี้ ล่าสุดทะยานกว่า 500 จุด โดยได้แรงหนุนจากตัวเลขผลประกอบการที่แข็งแกร่ง แม้สหรัฐเปิดเผยว่าเศรษฐกิจหดตัวลงในไตรมาสแรก

ณ เวลา 23.48 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 33,814.36 จุด บวก 512.43 จุด หรือ 1.54%

ดัชนีดาวโจนส์ปิดบวก 0.19% วานนี้ ขานรับผลประกอบการที่แข็งแกร่งเกินคาดของบริษัทไมโครซอฟท์และวีซ่า อย่างไรก็ดี บรรยากาศการซื้อขายในตลาดยังคงถูกกดดันจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจโลก และการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)

อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทปรับตัวย่ำแย่ในเดือนเม.ย. โดยดัชนีดาวโจนส์ร่วงลง 4% นับตั้งแต่ต้นเดือนนี้ ขณะที่ดัชนี S&P 500 ดิ่งลง 7% และมีแนวโน้มทำสถิติร่วงลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค.2563 ส่วนดัชนี Nasdaq ทรุดตัว 12% และมีแนวโน้มทำสถิติเป็นเดือนที่ปรับตัวย่ำแย่ที่สุดนับตั้งแต่เดือนต.ค.2551

หุ้นบริษัทเมตา แพลตฟอร์มส์ หรือเฟซบุ๊ก รวมทั้งควอลคอมม์ อิงค์ และแมคโดนัลด์ คอร์ป ต่างดีดตัวขึ้นขานรับผลประกอบการที่สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์

บริษัทจดทะเบียนจำนวน 237 แห่งในดัชนี S&P 500 ได้รายงานผลประกอบการในไตรมาสแรกแล้ว โดย 81% ในจำนวนดังกล่าวมีกำไรสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์

นักลงทุนจับตาผลประกอบการของบริษัทแอปเปิล, แอมะซอน และทวิตเตอร์ในวันนี้

ขณะเดียวกัน ตลาดจับตาการประชุมนโยบายการเงินของเฟดในวันที่ 3-4 พ.ค. ท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด หลังจากนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด กล่าวว่า เขาสนับสนุนให้เฟดดำเนินการเร็วขึ้นเพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อ และระบุว่ามีโอกาสที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมเดือนพ.ค. ซึ่งจะเป็นครั้งแรกที่เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% นับตั้งแต่ปี 2543

นอกจากนี้ ตลาดยังกังวลว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแรงขึ้นหลังเดือนพ.ค. โดยอาจปรับขึ้น 0.75% เพื่อสกัดเงินเฟ้อ

ส่วนการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐในวันนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 สำหรับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 1/65 โดยระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐหดตัว 1.4% ซึ่งเป็นการหดตัวครั้งแรกนับตั้งแต่ที่เศรษฐกิจเผชิญภาวะถดถอยจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงต้นปี 2563

นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่าเศรษฐกิจมีการขยายตัว 1.1% ในไตรมาส 1/65

ก่อนหน้านี้ เศรษฐกิจสหรัฐเติบโต 6.3% ในไตรมาส 1/64 และ 6.7% ในไตรมาส 2 ก่อนที่จะชะลอตัวสู่ 2.3% ในไตรมาส 3 เนื่องจากการขาดแคลนวัตถุดิบในภาคการผลิต ซึ่งกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานและการใช้จ่ายของผู้บริโภค แต่เศรษฐกิจสหรัฐกลับมามีการขยายตัว 6.9% ในไตรมาส 4

เมื่อพิจารณาทั้งปี 2564 เศรษฐกิจสหรัฐมีการขยายตัว 5.7% ซึ่งเป็นตัวเลขสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2527 หลังจากที่หดตัว 3.4% ในปี 2563 ซึ่งเป็นการหดตัวรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2489 โดยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

ดอยซ์แบงก์คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจสหรัฐมีโอกาสสูงที่จะเผชิญภาวะถดถอยในช่วงปลายปี 2566 และต้นปี 2567 โดยได้รับผลกระทบจากการที่เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วและแรงเพื่อสกัดเงินเฟ้อ

กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 5,000 ราย สู่ระดับ 180,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว และสอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์

นอกจากนี้ ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานดังกล่าวต่ำกว่าระดับ 215,000 ราย ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยต่อสัปดาห์ในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในสหรัฐ

ส่วนตัวเลขค่าเฉลี่ย 4 สัปดาห์ของจำนวนชาวอเมริกันที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรก ซึ่งถือเป็นมาตรวัดตลาดแรงงานที่ดีกว่า เนื่องจากขจัดความผันผวนรายสัปดาห์ เพิ่มขึ้น 2,250 ราย สู่ระดับ 179,750 ราย

ขณะเดียวกัน กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า จำนวนชาวอเมริกันที่ยังคงขอรับสวัสดิการว่างงานต่อเนื่อง ลดลง 1,000 ราย สู่ระดับ 1.41 ล้านราย ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ต้นปี 2513


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ