ดาวโจนส์ถล่มกว่า 1,200 จุด หลุดแนว 33,000 สวนทางหุ้นพุ่งวานนี้

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday May 5, 2022 23:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีดาวโจนส์ดิ่งลงอย่างต่อเนื่องในวันนี้ ล่าสุดทรุดตัวลงกว่า 1,200 จุด หลุดระดับ 33,000 จุด โดยหุ้นร่วงลงทุกกลุ่ม หลังตลาดหุ้นวอลล์สตรีทพุ่งขึ้นอย่างมากในการซื้อขายวานนี้

ณ เวลา 23.02 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 32,834.79 จุด ลบ 1,226.27 จุด หรือ 3.6% ขณะที่ดัชนี S&P 500 ร่วงลง 4.11% และดัชนี Nasdaq ดิ่งลง 5.31%

ดัชนีดาวโจนส์พุ่งขึ้น 932.27 จุด หรือ 2.81% ปิดตลาดวานนี้ที่ระดับ 34,061.06 จุด หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ และนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ยืนยันว่า เฟด "ยังไม่ได้พิจารณา" ที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากถึง 0.75%

นอกจากนี้ เฟดยังเปิดเผยแผนทยอยปรับลดขนาดงบดุล (Quantitative Tightening : QT) โดยจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนมิ.ย. ซึ่งเฟดจะลดขนาดงบดุลในวงเงิน 4.75 หมื่นล้านดอลลาร์/เดือน และหลังจากนั้น 3 เดือน เฟดจะเพิ่มการลดขนาดงบดุลเป็น 9.5 หมื่นล้านดอลลาร์/เดือน

ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทถูกกดดันจากการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี สู่ระดับ 3.09% ในวันนี้ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2561

ทั้งนี้ พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีถือเป็นพันธบัตรที่ใช้อ้างอิงในการกำหนดราคาของตราสารหนี้ทั่วโลก ซึ่งรวมถึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนอง หากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับตัวขึ้น จะทำให้บริษัทต่างๆ เผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้นจากการชำระหนี้ ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทเหล่านี้ลดการลงทุน และลดการจ่ายเงินปันผลแก่นักลงทุน

นอกจากนี้ นักลงทุนส่งแรงเทขายในตลาดวันนี้ หลังผิดหวังต่อการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจ โดยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานสูงกว่าคาด ขณะที่ตัวเลขประสิทธิภาพในการผลิตของแรงงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐดิ่งลงในไตรมาสแรก

กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเพิ่มขึ้น 19,000 ราย สู่ระดับ 200,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนก.พ. และเป็นตัวเลขการเพิ่มขึ้นรายสัปดาห์มากที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.ค.2564

นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่าตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกอยู่ที่ระดับ 182,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว

กระทรวงแรงงานสหรัฐยังเปิดเผยว่า ประสิทธิภาพในการผลิตของแรงงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐดิ่งลง 7.5% ในไตรมาส 1/65 ซึ่งเป็นการทรุดตัวลงมากที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาส 3 ของปี 2490 หลังจากขยายตัว 6.3% ในไตรมาส 4/64

นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่าประสิทธิภาพในการผลิตของแรงงานลดลง 5.4% ในไตรมาส 1/65

ทั้งนี้ ประสิทธิภาพในการผลิตของแรงงานเป็นการวัดผลผลิตรายชั่วโมงต่อแรงงาน 1 คน

นักลงทุนจับตาตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรในวันพรุ่งนี้ ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ตัวเลขจ้างงานเพิ่มขึ้น 390,000 ตำแหน่งในเดือนเม.ย. ส่วนอัตราการว่างงานจะลดลงสู่ระดับ 3.5%

ก่อนหน้านี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 431,000 ตำแหน่งในเดือนมี.ค. ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 490,000 ตำแหน่ง ส่วนอัตราการว่างงานปรับตัวลงสู่ระดับ 3.6% ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.7%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ