ตลาดหุ้นเอเชียปิดเช้าลดลง นลท.วิตกเงินเฟ้อ-ดอกเบี้ยขาขึ้น

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday June 7, 2022 12:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ตลาดหุ้นเอเชียส่วนใหญ่ปิดภาคเช้าลดลง เนื่องจากนักลงทุนกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มที่มีความเป็นไปได้เพิ่มขึ้นว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะใช้นโยบายการเงินแบบคุมเข้มเพื่อสกัดภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้น โดยตลาดเฝ้าจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนพ.ค.ของสหรัฐในวันศุกร์นี้ เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นปิดภาคเช้าที่ระดับ 28,031.15 จุด เพิ่มขึ้น 115.26 จุด หรือ +0.41%, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกงปิดภาคเช้าที่ 21,628.37 จุด ลดลง 25.53 จุด หรือ -0.12% และดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีนปิดภาคเช้าที่ 3,252.00 จุด เพิ่มขึ้น 15.63 จุด หรือ +0.48%

ตลาดจะจับตาการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในวันพฤหัสบดีนี้ เพื่อประเมินว่า ECB จะมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมวันที่ 21 ก.ค.หรือไม่

ขณะเดียวกัน นักลงทุนในภูมิภาคยังจับตาเงินเยนซึ่งร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 20 เมื่อเทียบกับดอลลาร์ในช่วงเช้าวันนี้ โดยถูกกดดันจากส่วนต่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรของญี่ปุ่นและสหรัฐที่ปรับตัวกว้างขึ้น ซึ่งส่งผลให้นักลงทุนคาดการณ์ว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) อาจจะใช้มาตรการแทรกแซงเพื่อสกัดการร่วงลงของเงินเยน

ทั้งนี้ เงินเยนอ่อนค่าลง 0.3% สู่ระดับ 132.33 เยนต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย. 2545 หลังจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ทะยานขึ้นเหนือระดับ 3%

นายทาคูยะ คันดะ กรรมการผู้จัดการบริษัท Gaitame.com Research Institute กล่าวว่า ในบรรดาธนาคารกลางของกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว มีเพียง BOJ เท่านั้นที่ไม่ได้ใช้นโยบายคุมเข้มด้านการเงิน ซึ่งส่งผลให้เงินเยนอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง โดยเขาคาดว่าเงินเยนจะร่วงลงแตะระดับ 132-133 เยนต่อดอลลาร์ ก่อนที่จะแตะเป้าหมายทางเทคนิคระดับต่อไปที่ 135.15 เยนต่อดอลลาร์

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจในภูมิภาคที่รายงานแล้วนั้น ผลสำรวจซึ่งจัดทำโดยธนาคารออสเตรเลีย แอนด์ นิวซีแลนด์ แบงกิง กรุ๊ป (ANZ) และรอย มอร์แกน ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคออสเตรเลียปรับตัวลง 4.1% ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา สู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่กลางเดือนส.ค. 2563 ขณะที่การคาดการณ์เงินเฟ้อรายสัปดาห์เพิ่มขึ้น 0.2% สู่ระดับ 5.7%

ทั้งนี้ ความเชื่อมั่นผู้บริโภคออสเตรเลียลดลงอีกในสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น และแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ