ดาวโจนส์ดิ่งกว่า 200 จุด กังวลธุรกิจค้าปลีกซบฉุดเศรษฐกิจสหรัฐถดถอย

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday June 7, 2022 21:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีดาวโจนส์ดิ่งลงกว่า 200 จุดในวันนี้ ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับผลประกอบการในธุรกิจค้าปลีก ซึ่งอาจส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอย

ณ เวลา 20.46 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 32,708.42 จุด ลบ 207.36 จุด หรือ 0.63%

ราคาหุ้นของทาร์เก็ต ซึ่งเป็นบริษัทค้าปลีกรายใหญ่ของสหรัฐ ดิ่งลงกว่า 6% หลังประกาศปรับลดคาดการณ์อัตรากำไรจากการดำเนินงานสู่ระดับ 2% ในไตรมาส 2 จากเดิมคาดการณ์ว่าจะใกล้เคียงไตรมาสแรกที่ระดับ 5.3%

นอกจากนี้ ทาร์เก็ตยังประกาศมาตรการในการลดสต็อกในคลังสินค้าที่ไม่จำเป็น โดยมีการยกเลิกคำสั่งซื้อสินค้า หลังมีการเปิดเผยมูลค่าสต็อกสินค้าสูงถึง 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนเม.ย. ซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วถึง 43%

ก่อนหน้านี้ ทาร์เก็ตสร้างความตื่นตระหนกต่อนักลงทุน หลังเปิดเผยกำไรต่ำกว่าคาดในไตรมาสแรก โดยระบุว่า บริษัทมีกำไรที่ระดับ 2.19 ดอลลาร์/หุ้น ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.07 ดอลลาร์/หุ้น ขณะที่ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันและค่าขนส่งที่พุ่งขึ้น ส่งผลให้ราคาหุ้นทาร์เก็ตดิ่งลงเกือบ 25% ในการซื้อขายที่ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทเมื่อวันที่ 18 พ.ค. ซึ่งเป็นการทรุดตัวรุนแรงที่สุดในรอบ 35 ปี

การปรับตัวลงของหุ้นทาร์เก็ตในวันนี้ ได้ฉุดให้ราคาหุ้นอื่นๆในกลุ่มค้าปลีกร่วงลงเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทยังถูกกดดันจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ซึ่งแม้ว่าปรับตัวลงในวันนี้ แต่ก็ยังคงอยู่เหนือระดับ 3%

ทั้งนี้ พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีถือเป็นพันธบัตรที่ใช้อ้างอิงในการกำหนดราคาของตราสารหนี้ทั่วโลก ซึ่งรวมถึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนอง หากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับตัวขึ้น จะทำให้บริษัทต่าง ๆ เผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้นจากการชำระหนี้ ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทเหล่านี้ลดการลงทุน และลดการจ่ายเงินปันผลแก่นักลงทุน

นักลงทุนจับตาดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในวันศุกร์นี้ หลังจากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งบ่งชี้ว่าเงินเฟ้อของสหรัฐได้ผ่านจุดสูงสุดแล้ว

นอกจากนี้ ตลาดจับตาการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันที่ 14-15 มิ.ย. โดยคาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมดังกล่าว รวมทั้งในการประชุมเดือนก.ค.เพื่อสกัดเงินเฟ้อ

ทั้งนี้ เฟดเริ่มใช้มาตรการปรับลดขนาดงบดุล (Quantitative Tightening : QT) ในเดือนมิ.ย. ตามมติในการประชุมนโยบายการเงินเมื่อวันที่ 4 พ.ค. โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. เฟดจะลดขนาดงบดุลในวงเงิน 4.75 หมื่นล้านดอลลาร์/เดือน และตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. เฟดจะเพิ่มวงเงินในการลดขนาดงบดุลเป็น 2 เท่า สู่ระดับ 9.5 หมื่นล้านดอลลาร์/เดือน

ส่วนการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐในวันนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขขาดดุลการค้าสหรัฐลดลง 19.1% สู่ระดับ 8.71 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนเม.ย. หลังจากพุ่งแตะระดับ 1.098 แสนล้านดอลลาร์ในเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์

ทั้งนี้ การนำเข้าลดลง 3.4% สู่ระดับ 3.397 แสนล้านดอลลาร์ในเดือนเม.ย. ขณะที่การส่งออกเพิ่มขึ้น 3.5% สู่ระดับ 2.526 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์

หากพิจารณาตั้งแต่ต้นปี 2565 สหรัฐขาดดุลการค้ามากที่สุดต่อประเทศคู่ค้า 5 ชาติ ได้แก่ จีน เม็กซิโก เวียดนาม แคนาดา และญี่ปุ่น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ