ดัชนีดาวโจนส์ดิ่งลงอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดทรุดตัวลงกว่า 700 จุดในวันนี้ หลังสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ที่สูงเกินคาด ซึ่งอาจทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมสัปดาห์หน้าเพื่อสกัดเงินเฟ้อ
ณ เวลา 21.06 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 31,544.86 จุด ลบ 727.93 จุด หรือ 2.26% ขณะที่ดัชนี S&P 500 และ Nasdaq ดิ่งลงมากกว่า 2%
ดัชนีดาวโจนส์ร่วงลง 1.9% นับตั้งแต่ต้นสัปดาห์ และมีแนวโน้มปรับตัวลง 10 ใน 11 สัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่ดัชนี S&P 500 และ Nasdaq ดิ่งลงมากกว่า 2% นับตั้งแต่ต้นสัปดาห์ และมีแนวโน้มปรับตัวลง 9 ใน 10 สัปดาห์ที่ผ่านมา
หุ้นทุกกลุ่มในตลาดร่วงลงในวันนี้ ไม่เว้นแม้แต่หุ้นกลุ่มธนาคาร ซึ่งมักได้รับอานิสงส์จากภาวะอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น
นอกจากนี้ ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทยังถูกกดดันจากการพุ่งขึ้นเหนือระดับ 3.1% ของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐอายุ 10 ปีในวันนี้
ทั้งนี้ พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีถือเป็นพันธบัตรที่ใช้อ้างอิงในการกำหนดราคาของตราสารหนี้ทั่วโลก ซึ่งรวมถึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนอง หากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับตัวขึ้น จะทำให้บริษัทต่างๆ เผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้นจากการชำระหนี้ ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทเหล่านี้ลดการลงทุน และลดการจ่ายเงินปันผลแก่นักลงทุน
กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนี CPI ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค พุ่งขึ้น 8.6% ในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นระดับสูงสุดครั้งใหม่ในรอบกว่า 40 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 2524 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 8.3%
ดัชนี CPI ดังกล่าวสูงกว่าระดับ 8.3% ในเดือนเม.ย. และสูงกว่าระดับ 8.5% ที่ทำไว้ในเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค.2524
นอกจากนี้ ดัชนี CPI เพิ่มขึ้น 1.0% ในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบรายเดือน สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 0.7%
ขณะเดียวกัน ดัชนี CPI พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน พุ่งขึ้น 6.0% ในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 5.9%
เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี CPI พื้นฐานดีดตัวขึ้น 0.6% ในเดือนพ.ค. สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 0.5%
ตลาดจับตาการประชุมนโยบายการเงินของเฟดในวันที่ 14-15 มิ.ย. โดยก่อนการเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อในวันนี้ นักลงทุนคาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมดังกล่าว รวมทั้งในการประชุมเดือนก.ค.เพื่อสกัดเงินเฟ้อ
นอกจากนี้ เฟดเริ่มใช้มาตรการปรับลดขนาดงบดุล (Quantitative Tightening : QT) ในเดือนมิ.ย. ตามมติในการประชุมนโยบายการเงินเมื่อวันที่ 4 พ.ค. โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. เฟดจะลดขนาดงบดุลในวงเงิน 4.75 หมื่นล้านดอลลาร์/เดือน และตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. เฟดจะเพิ่มวงเงินในการลดขนาดงบดุลเป็น 2 เท่า สู่ระดับ 9.5 หมื่นล้านดอลลาร์/เดือน