ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงในวันพฤหัสบดี (16 มิ.ย.) โดยดาวโจนส์ดิ่งหลุดจากระดับ 30,000 จุดเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนม.ค. 2564 เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลว่าเศรษฐกิจโลกอาจจะเข้าสู่ภาวะถดถอย หลังจากธนาคารกลางทั่วโลกได้พากันปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ซึ่งรวมถึงธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์และอังกฤษ
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 29,927.07 จุด ร่วงลง 741.46 จุด หรือ -2.42%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,666.77 จุด ลดลง 123.22 จุด หรือ -3.25% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 10,646.10 จุด ร่วงลง 453.06 จุด หรือ -4.08%
ธนาคารกลางหลายแห่งทั่วโลกแห่ขึ้นดอกเบี้ย หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.75% สู่ระดับ 1.50-1.75% ในการประชุมเมื่อวันพุธที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 28 ปี
ทั้งนี้ ธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่ระดับ 1.25% ในการประชุมเมื่อวานนี้ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 13 ปี ขณะที่ธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสู่ระดับ -0.25% จากระดับ -0.75% ซึ่งเป็นการขึ้นครั้งแรกในรอบ 15 ปี นอกจากนี้ ธนาคารกลางฮังการี บราซิล ไต้หวัน ฮ่องกง และอาร์เจนตินา ต่างก็ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยเช่นกัน
ทอม เฮนลิน นักวิเคราะห์จากบริษัทแอสเซนท์ ไพรเวท เวลธ์ กรุ๊ปกล่าวว่า การที่ธนาคารกลางทั่วโลกแห่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยทำให้นักลงทุนวิตกกังวลว่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย และทำให้ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนชะลอตัวลง
หุ้นทั้ง 11 กลุ่มที่คำนวณในดัชนี S&P500 ปิดในแดนลบ นำโดยดัชนีหุ้นกลุ่มพลังงานร่วงลง 5.58% โดยหุ้นเบเกอร์ ฮิวจ์ ร่วงลง 5.83% หุ้นฮัลลิเบอร์ตัน ดิ่งลง 6.01% หุ้นเอ็กซอน โมบิล ร่วงลง 3.69% หุ้นเชฟรอน ร่วงลง 5.36%
หุ้นเติบโต (Growth Stocks) ซึ่งมีความอ่อนไหวต่ออัตราดอกเบี้ยเช่นหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีและกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยร่วงลงอย่างหนัก โดยหุ้นแอมะซอน ร่วงลง 3.72% หุ้นไมโครซอฟท์ ร่วงลง 2.7% หุ้นเน็ตฟลิกซ์ ร่วงลง 3.75% หุ้นแอปเปิล ร่วงลง 3.97% หุ้นราล์ฟ ลอเรน ทรุดตัวลง 8.94% หุ้นไนกี้ ดิ่งลง 5.54%
หุ้นกลุ่มสายการบินและธุรกิจเรือสำราญร่วงลงอย่างหนักเช่นกัน โดยหุ้นยูไนเต็ด แอร์ไลน์ ร่วงลง 8.21% หุ้นเดลต้า แอร์ไลน์ ดิ่งลง 7.45% หุ้นอเมริกัน แอร์ไลน์ ร่วงลง 8.64% หุ้นคาร์นิวัล คอร์ป ดิ่งลง 11.08% หุ้นรอยัล คาริบเบียน ครูส ร่วงลง 11.3%
นอกจากนี้ ตลาดยังถูกกดดันจากข้อมูลเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ของสหรัฐ โดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขการเริ่มต้นสร้างบ้านดิ่งลง 14.4% ในเดือนพ.ค. สู่ระดับ 1.549 ล้านยูนิต ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย. 2564 โดยได้รับผลกระทบจากการพุ่งขึ้นของราคาวัสดุก่อสร้างและปัญหาการขาดแคลนแรงงาน
ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาฟิลาเดลเฟีย เปิดเผยดัชนีภาคการผลิตในภูมิภาคมิด-แอตแลนติก ดิ่งลงสู่ระดับ -3.3 ในเดือนมิ.ย. ซึ่งเป็นการปรับตัวลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 หลังจากแตะระดับ +2.6 ในเดือนพ.ค.