ดัชนีดาวโจนส์พุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดทะยานกว่า 600 จุด ทะลุแนว 31,000 จุด หลังมหาวิทยาลัยมิชิแกนเปิดเผยผลสำรวจบ่งชี้ว่าผู้บริโภคสหรัฐได้ปรับลดตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อ
ณ เวลา 22.05 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 31,324.72 จุด บวก 647.36 จุด หรือ 2.11% ขณะที่ดัชนี S&P 500 ดีดตัว 2.37% และดัชนี Nasdaq พุ่งขึ้น 2.49%
หุ้นทุกกลุ่มปรับตัวขึ้นในวันนี้ นำโดยกลุ่มพลังงาน สอดคล้องกับการพุ่งขึ้นของราคาน้ำมันในตลาดโลก
ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นในสัปดาห์นี้ หลังจากร่วงลงติดต่อกัน 3 สัปดาห์ โดยดัชนีดาวโจนส์พุ่งขึ้น 3% นับตั้งแต่ต้นสัปดาห์ ส่วนดัชนี S&P 500 ดีดตัวขึ้น 4% และดัชนี Nasdaq ทะยานขึ้น 5%
นักลงทุนขานรับการเปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐของมหาวิทยาลัยมิชิแกนในวันนี้ ซึ่งจะเป็นปัจจัยบ่งชี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) โดยตลาดให้ความสนใจต่อตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อของผู้บริโภคสหรัฐในช่วง 1 ปีข้างหน้าและ 5 ปีข้างหน้า หลังจากที่สหรัฐเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อพุ่งสูงสุดในรอบกว่า 40 ปี
ทั้งนี้ ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐดิ่งลงสู่ระดับ 50.0 ในเดือนมิ.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เริ่มมีการรวบรวมข้อมูลดังกล่าวในช่วงทศวรรษ 1940 และต่ำกว่าตัวเลขเบื้องต้นที่ระดับ 50.2 หลังจากแตะระดับ 58.4 ในเดือนพ.ค.
นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นดังกล่าวต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 50.2
ดัชนีความเชื่อมั่นได้รับผลกระทบจากความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อและภาวะเศรษฐกิจถดถอย
ขณะเดียวกัน ผู้บริโภคคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะพุ่งแตะ 5.3% ในช่วง 1 ปีข้างหน้า โดยสูงกว่าระดับ 4.2% ที่มีการสำรวจในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แต่ต่ำกว่าระดับ 5.4% ซึ่งเป็นตัวเลขเบื้องต้นที่มีการสำรวจเมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้ว
สำหรับในช่วง 5 ปีข้างหน้า ผู้บริโภคคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะพุ่งแตะระดับ 3.1% โดยสูงกว่าระดับ 2.8% ที่มีการสำรวจในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แต่ต่ำกว่าระดับ 3.3% ซึ่งเป็นตัวเลขเบื้องต้นที่มีการสำรวจเมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้ว และอยู่ในช่วง 2.9-3.1% ที่มีการสำรวจในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา
นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด กล่าวอย่างชัดเจนหลังการประชุมนโยบายการเงินของเฟดเมื่อวันที่ 15 มิ.ย.ว่า ผลการสำรวจความเชื่อมั่นผู้บริโภคของมหาวิทยาลัยมิชิแกนที่มีการเปิดเผยเมื่อวันที่ 10 มิ.ย.เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เฟดเปลี่ยนแปลงการตัดสินใจไปสู่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมวันที่ 15 มิ.ย. แม้ว่าเฟดคาดการณ์ว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียง 0.50% ก่อนหน้านั้นเพียง 1 สัปดาห์
"เราพบว่าข้อมูลที่มีการเปิดเผยเมื่อวันที่ 10 มิ.ย.เป็นสิ่งที่ต้องให้ความสนใจ ซึ่งเรากำลังจับตาตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อ และกำลังให้ความจริงจังในเรื่องนี้" นายพาวเวลกล่าว
ทั้งนี้ เฟดมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.75% สู่ระดับ 1.50-1.75% ในการประชุมเมื่อวันที่ 15 มิ.ย. ซึ่งเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 28 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 2537
นอกจากนี้ ในการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) เจ้าหน้าที่เฟดคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยจะแตะระดับ 3.4% ในช่วงสิ้นปีนี้ ซึ่งบ่งชี้ว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 1.75% ภายในปีนี้ และคาดว่าอัตราดอกเบี้ยจะปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 3.8% ในสิ้นปี 2566 และชะลอตัวสู่ระดับ 3.4% ในปี 2567 ขณะที่อัตราดอกเบี้ยระยะยาวอยู่ที่ 2.5%
การที่เฟดส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 1.75% ภายในปีนี้ ทำให้นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในเดือนก.ค. และ 0.50% ในเดือนก.ย. ก่อนที่จะปรับขึ้นเพียง 0.25% ในเดือนพ.ย.และธ.ค.
นอกจากนี้ ในการประชุมวันที่ 15 มิ.ย. เฟดคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะพุ่งแตะระดับ 5.2% ในสิ้นปีนี้ จากเดิมคาดการณ์ที่ระดับ 4.3% และจะชะลอตัวสู่ระดับ 2.6% และ 2.2% ในปี 2566 และ 2567 ตามลำดับ