ตลาดหุ้นเอเชียเปิดบวกเช้านี้ตามทิศทางดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กที่ปิดพุ่งขึ้นมากกว่า 800 จุดในวันศุกร์ (24 มิ.ย.) เนื่องจากนักลงทุนคลายกังวลเกี่ยวกับแผนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) หลังจากเศรษฐกิจส่งสัญญาณชะลอตัว และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวลงในช่วงที่ผ่านมา
ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นเปิดวันนี้ที่ 26,741.80 จุด เพิ่มขึ้น 249.83 จุด หรือ +0.94%, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกงเปิดวันนี้ที่ 21,976.80 จุด เพิ่มขึ้น 257.74 จุด หรือ +1.18% และดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีนเปิดวันนี้ที่ 3,364.00 เพิ่มขึ้น 14.25 จุด หรือ +0.42%
บรรยากาศการซื้อขายในภูมิภาคฟื้นตัวขึ้น หลังจากก่อนหน้านี้ตลาดถูกกดดันจากความวิตกว่า การที่เฟดเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อควบคุมเงินเฟ้อซึ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 40 ปีนั้น อาจทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย
นอกจากนี้ นักลงทุนยังคลายความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อ หลังราคาสินค้าโภคภัณฑ์ร่วงลงอย่างรุนแรงในช่วงที่ผ่านมา และบรรดาเทรดเดอร์คาดการณ์ในขณะนี้ว่า อัตราดอกเบี้ยมาตรฐานของสหรัฐจะปรับตัวขึ้นสู่ระดับราว 3.5% ภายในเดือนมี.ค.ปีหน้า ซึ่งลดลงจากการคาดการณ์เมื่อสัปดาห์ที่แล้วที่ระดับราว 4%
ขณะเดียวกัน นักลงทุนยังจับตาผลกระทบต่อตลาด หลังรัสเซียผิดนัดชำระหนี้สกุลเงินต่างประเทศเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 1 ศตวรรษ หรือนับตั้งแต่ปี 2461 ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ชาติตะวันตกประกาศคว่ำบาตรรัสเซีย ซึ่งรวมถึงการปิดช่องทางการชำระหนี้ให้กับกลุ่มเจ้าหนี้ต่างประเทศ เพื่อตอบโต้รัสเซียที่ใช้กำลังทหารรุกรานยูเครน
ทั้งนี้ รัสเซียมีกำหนดชำระอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรมูลค่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐในวันอาทิตย์ที่ 26 มิ.ย. และนับจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีการชำระอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว ซึ่งบ่งชี้ว่า รัสเซียได้ผิดนัดชำระหนี้แล้ว
สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า นับตั้งแต่รัสเซียบุกโจมตียูเครนเมื่อวันที่ 24 ก.พ.ที่ผ่านมา คณะบริหารของปธน.ไบเดนได้อนุญาตให้ยกเว้นการคว่ำบาตรต่อธนาคารกลางรัสเซียเป็นการชั่วคราว เพื่อเปิดโอกาสให้ธนาคารกลางสามารถชำระหนี้ให้กับผู้ถือพันธบัตรผ่านทางธนาคารสหรัฐและธนาคารทั่วโลกได้ แต่แถลงการณ์ชื่อ Notice on Russian Harmful Foreign Activities Sanctions General License 9C ที่ออกโดยกระทรวงการคลังสหรัฐระบุว่า ข้อยกเว้นดังกล่าวได้หมดอายุลงในวันที่ 25 พ.ค.ตามเวลาสหรัฐ
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญในภูมิภาคที่จะรายงานวันนี้ ได้แก่ กำไรภาคอุตสาหกรรมเดือนพ.ค. ของจีน และดัชนีชี้นำเศรษฐกิจเดือนเม.ย. ของญี่ปุ่น