ตลาดหุ้นเอเชียปิดภาคเช้าปรับตัวลง ตามทิศทางดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กที่ปิดร่วงลงในวันอังคาร (28 มิ.ย.) หลังดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐทรุดตัวลงอย่างหนัก ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อและภาวะเศรษฐกิจถดถอย
ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นปิดภาคเช้าที่ระดับ 26,759.99 จุด ร่วงลง 289.48 จุด หรือ -1.07%, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกงปิดภาคเช้าที่ 22,053.86 จุด ร่วงลง 365.11 จุด หรือ -1.63% และดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีนปิดภาคเช้าที่ 3,383.05 จุด ลดลง 26.16 จุด หรือ -0.77%
ตลาดถูกกดดันหลังมีการเปิดเผยผลสำรวจของ Conference Board ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยเศรษฐกิจที่ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐทรุดตัวลงสู่ระดับ 98.7 ในเดือนมิ.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2556 และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 100.0 จากระดับ 103.2 ในเดือนพ.ค. โดยผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อและเศรษฐกิจสหรัฐที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงในช่วงครึ่งหลังของปีนี้
รายงานดังกล่าวบดบังปัจจัยบวกหลังรัฐบาลจีนประกาศว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติจะต้องกักตัวในสถานที่ซึ่งรัฐบาลจัดให้เป็นเวลา 7 วัน และจากนั้นต้องกักตัวต่อในที่พักอาศัยอีก 3 วัน รวมเป็น 10 วัน ซึ่งลดลงจากเดิมที่กำหนดว่าจะต้องกักตัวเป็นเวลานานถึง 3 สัปดาห์
สำหรับความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจในภูมิภาคนั้น นายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) กล่าวว่า BOJ จะเดินหน้าใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเป็นพิเศษ (Ultra-loose Monetary Policy) ต่อไป เนื่องจากเศรษฐกิจญี่ปุ่นไม่ได้รับกระทบรุนแรงจากวิกฤตเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นทั่วโลก
นายคุโรดะกล่าวว่า แม้ว่าดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อพุ่งขึ้น 2.1% ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 ในเดือนพ.ค. แต่การปรับตัวขึ้นของเงินเฟ้อส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการพุ่งขึ้นของราคาพลังงาน พร้อมกับกล่าวว่า ในขณะที่ตัวเลขเงินเฟ้อของญี่ปุ่นมีแนวโน้มเคลื่อนไหวที่ระดับ 2% ตลอดปีนี้ แต่ก็คาดว่าอาจจะชะลอตัวลงมาอยู่ที่ระดับราว 1% ในปีงบประมาณปีหน้าซึ่งจะเริ่มต้นในเดือนเม.ย. 2566
นักลงทุนยังจับตาการเปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 1/2565 ของสหรัฐในวันนี้ ซึ่งจะเป็นตัวเลขประมาณการครั้งสุดท้าย ส่วนในการประมาณการครั้งที่ 1 นั้น กระทรวงพาณิชย์สหรัฐระบุว่า GDP หดตัว 1.4% และในการประมาณการครั้งที่ 2 ระบุว่า GDP หดตัว 1.5%