ดาวโจนส์ฟิวเจอร์พุ่งเกือบ 200 จุด ส่งสัญญาณวอลล์สตรีทดีดตัวต่อจากวานนี้

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday July 7, 2022 20:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีดาวโจนส์ฟิวเจอร์พุ่งขึ้นเกือบ 200 จุดในวันนี้ บ่งชี้ว่าตลาดหุ้นวอลล์สตรีทจะดีดตัวขึ้นในคืนนี้ต่อเนื่องจากวานนี้

ณ เวลา 20.07 น.ตามเวลาไทย ดัชนีดาวโจนส์ฟิวเจอร์บวก 193 จุด หรือ 0.62% สู่ระดับ 31,206 จุด

ดัชนีดาวโจนส์ปิดบวก 0.23% เมื่อวานนี้ โดยนักลงทุนขานรับรายงานการประชุมเดือนมิ.ย.ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งบ่งชี้ว่า เฟดมีความมุ่งมั่นที่จะสกัดการพุ่งขึ้นของเงินเฟ้อ

อย่างไรก็ดี คาดว่าการซื้อขายในตลาดหุ้นวอลล์สตรีทยังคงถูกกดดันจากการที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปีพุ่งทะลุ 3% ขณะที่ตลาดพันธบัตรสหรัฐเกิดภาวะ inverted yield curve ติดต่อกันเป็นวันที่ 3 ท่ามกลางความกังวลที่ว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะเผชิญภาวะถดถอยจากการที่เฟดเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ

ทางด้านเฟดสาขาแอตแลนตาเปิดเผยว่า แบบจำลองคาดการณ์ GDPNow ล่าสุดแสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจสหรัฐหดตัว 2.1% ในไตรมาส 2 จากเดิมที่บ่งชี้ว่ามีแนวโน้มหดตัว 1.0%

ตัวเลขคาดการณ์ GDPNow บ่งชี้ว่า เศรษฐกิจสหรัฐหดตัวในไตรมาส 2 รุนแรงกว่าไตรมาส 1 ซึ่งหดตัว 1.6% และแสดงว่าเศรษฐกิจสหรัฐได้เข้าสู่ภาวะถดถอยแล้ว เนื่องจากเศรษฐกิจหดตัว 2 ไตรมาสติดต่อกัน

เฟดสาขาแอตแลนตาจะรายงานตัวเลขคาดการณ์ GDPNow ครั้งใหม่ในวันนี้ ขณะที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐจะเปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 สำหรับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 2 ในวันที่ 28 ก.ค. ซึ่งจะเป็นการยืนยันว่าเศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอยหรือไม่

นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด กล่าวก่อนหน้านี้ว่า เฟดมีความมุ่งมั่นในการสกัดเงินเฟ้อ แม้การใช้นโยบายคุมเข้มทางการเงินจะชะลอการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แต่ก็จะไม่สร้างความเสี่ยงที่รุนแรง

"เรามีความมุ่งมั่นที่จะใช้เครื่องมือทั้งหมดที่เรามีเพื่อทำให้เงินเฟ้อปรับตัวลง ซึ่งการกระทำดังกล่าวก็คือการลดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งแม้จะมีความเสี่ยง แต่ผมก็มองว่านี่ไม่ใช่ความเสี่ยงใหญ่ที่สุดต่อเศรษฐกิจ โดยความผิดพลาดมากกว่าที่อาจเกิดขึ้นก็คือความล้มเหลวในการรักษาเสถียรภาพด้านราคา" นายพาวเวลกล่าว

นักลงทุนจับตาการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรในวันพรุ่งนี้ โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ตัวเลขจ้างงานเพิ่มขึ้นเพียง 250,000 ตำแหน่งในเดือนมิ.ย. ต่ำกว่าระดับ 390,000 ตำแหน่งในเดือนพ.ค. และคาดว่าอัตราการว่างงานทรงตัวที่ระดับ 3.6%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ