ตลาดหุ้นเอเชียปิดเช้าผันผวน กังวลวอลมาร์ทลดคาดการณ์กำไร Q2/65

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday July 26, 2022 12:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ตลาดหุ้นเอเชียปิดภาคเช้าเคลื่อนไหวทั้งแดนบวกและลบ โดยบางแห่งถูกกดดันจากการที่บริษัทวอลมาร์ทปรับลดคาดการณ์ผลกำไรในไตรมาส 2 และผลกำไรตลอดปี 2565 เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อที่ส่งผลให้ผู้บริโภคลดการใช้จ่ายสินค้าบางประเภทลง

ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นปิดภาคเช้าที่ 27,681.73 จุด ลดลง 17.52 จุด หรือ -0.06%, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกงปิดภาคเช้าที่ 20,868.29 จุด เพิ่มขึ้น 305.35 จุด หรือ +1.48% และดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีนปิดภาคเช้าที่ 3,276.71 จุด เพิ่มขึ้น 26.32 จุด หรือ +0.81%

บรรยากาศการซื้อขายเป็นไปอย่างผันผวน หลังจากที่วอลมาร์ท ปรับลดคาดการณ์ผลกำไรในไตรมาส 2 และผลกำไรตลอดปี 2565 โดยระบุว่า ภาวะเงินเฟ้อกำลังส่งผลให้ผู้บริโภคลดการใช้จ่ายสินค้าจำพวกเสื้อผ้าและเครื่องไฟฟ้า และหันไปใช้จ่ายเฉพาะสินค้าที่จำเป็น เช่น อาหาร

ทั้งนี้ วอลมาร์ทซึ่งเป็นบริษัทค้าปลีกรายใหญ่ที่สุดของสหรัฐ และได้รับการพิจารณาว่าเป็นบริษัทที่มีผลต่อภาพรวมของเศรษฐกิจสหรัฐเปิดเผยว่า บริษัทคาดการณ์ว่า กำไรต่อหุ้นในไตรมาส 2 จะลดลงราว 8% - 9% และคาดว่ากำไรต่อหุ้นในปีงบการเงิน 2565 จะลดลงราว 11% - 13% จากก่อนหน้านี้ที่คาดว่ากำไรต่อหุ้นในไตรมาส 2 จะขยับขึ้นเล็กน้อย และกำไรต่อหุ้นในปี 2565 จะลดลงเพียง 1%

สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า บริษัทวอลมาร์ทมีกำหนดเปิดเผยผลประกอบการประจำไตรมาส 2 ในวันที่ 16 ส.ค.นี้

นอกจากนี้ นักลงทุนยังจับตาการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันที่ 26-27 ก.ค.นี้ ขณะที่ FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า ขณะนี้นักลงทุนให้น้ำหนัก 77.5% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมครั้งนี้ และให้น้ำหนักเพียง 22.5% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 1.00%

ด้านธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เปิดเผยรายงานการประชุมเดือนมิ.ย.ในวันนี้ระบุว่า กรรมการ BOJ มองว่าการปรับขึ้นค่าแรงถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ BOJ สามารถบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ระดับ 2% ได้อย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นการเน้นย้ำว่า BOJ มีเป้าหมายที่จะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำเป็นพิเศษ (Ultra-low interest rates) ต่อไป แม้มีสัญญาณบ่งชี้ว่าแรงกดดันด้านเงินเฟ้อในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นก็ตาม

รายงานการประชุมระบุว่า กรรมการบางคนจากทั้งหมด 9 คนของ BOJ มองว่า ตัวเลขเงินเฟ้อปรับตัวขึ้นเป็นวงกว้าง และกำลังนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงมุมมองของสาธารณชนที่เคยมองว่า เงินเฟ้อและค่าแรงจะไม่ปรับตัวขึ้นมากนักในอนาคต

อย่างไรก็ดี กรรมการ BOJ มีความเห็นตรงกันว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนด้วยนโยบายการเงินขนานใหญ่ เพื่อให้สามารถรับมือกับผลกระทบที่เกิดจากการพุ่งขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และภาวะติดขัดด้านอุปทานซึ่งมีสาเหตุมาจากการใช้มาตรการล็อกดาวน์คุมโควิด-19 ในประเทศจีน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ