ดัชนีดาวโจนส์พุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดทะยานกว่า 300 จุดในวันนี้ ขานรับตัวเลขดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งบ่งชี้ถึงการชะลอตัวของเงินเฟ้อ เช่นเดียวกับดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) วานนี้
ณ เวลา 21.18 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 33,623.49 จุด บวก 313.98 จุด หรือ 0.94%
ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นทุกกลุ่ม นำโดยกลุ่มพลังงาน สอดคล้องกับราคาน้ำมันที่ดีดตัวขึ้นในวันนี้
ดัชนีดาวโจนส์พุ่งขึ้นกว่า 500 จุดวานนี้ หลังสหรัฐเปิดเผยตัวเลขดัชนี CPI ที่ต่ำกว่าคาด ซึ่งบ่งชี้ว่าเงินเฟ้อของสหรัฐได้ผ่านจุดสูงสุดแล้ว และจะลดแรงกดดันต่อธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนี PPI ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้ผลิต ปรับตัวลง 0.5% ในเดือนก.ค. เมื่อเทียบรายเดือน สวนทางนักวิเคราะห์ที่คาดว่าเพิ่มขึ้น 0.2% หลังจากปรับตัวขึ้น 1.0% ในเดือนมิ.ย.
ทั้งนี้ การปรับตัวลงของดัชนี PPI ในเดือนก.ค. ถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนเม.ย.2563 ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นของการแพร่ระบาดของโควิด-19
เมื่อเทียบรายปี ดัชนี PPI เพิ่มขึ้น 9.8% ในเดือนก.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนต.ค.2564 และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 10.4% หลังจากดีดตัวขึ้น 11.3% ในเดือนมิ.ย.
การชะลอตัวของดัชนี PPI มีสาเหตุจากการดิ่งลงของราคาพลังงาน
ส่วนดัชนี PPI พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 0.2% เมื่อเทียบรายเดือน หลังจากเพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนมิ.ย.
เมื่อเทียบรายปี ดัชนี PPI พื้นฐาน ปรับตัวขึ้น 5.8% หลังจากดีดตัวขึ้น 6.4% ในเดือนมิ.ย.
นักลงทุนลดคาดการณ์เกี่ยวกับการที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมกำหนดนโยบายการเงินในเดือนก.ย. และเพิ่มคาดการณ์ขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% หลังสหรัฐเปิดเผยตัวเลขดัชนี CPI และ PPI
ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 65.5% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% สู่ระดับ 2.75-3.00% ในการประชุมวันที่ 20-21 ก.ย. และให้น้ำหนักเพียง 34.5% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75%
ก่อนหน้านี้ นักลงทุนให้น้ำหนัก 68.5% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% สู่ระดับ 3.00-3.25% ในการประชุมวันที่ 20-21 ก.ย. และให้น้ำหนักเพียง 31.5% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50%
ส่วนการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐในวันนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเพิ่มขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 2 ติดต่อกัน โดยเพิ่มขึ้น 14,000 ราย สู่ระดับ 262,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว แต่ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 263,000 ราย นอกจากนี้ ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานดังกล่าวสูงกว่า 215,000 ราย ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยต่อสัปดาห์ในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในสหรัฐ ขณะเดียวกัน กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า จำนวนชาวอเมริกันที่ยังคงขอรับสวัสดิการว่างงานต่อเนื่อง เพิ่มขึ้น 8,000 ราย สู่ระดับ 1.428 ล้านราย