ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงมากกว่า 3% ในวันศุกร์ (26 ส.ค.) หลังจากนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปเพื่อสกัดเงินเฟ้อ
ทั้งนี้ ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 32,283.40 จุด ร่วงลง 1,008.38 จุด หรือ -3.03%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,057.66 จุด ร่วงลง 141.46 จุด หรือ -3.37% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 12,141.71 จุด ร่วงลง 497.56 จุด หรือ -3.94%
ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ดัชนีดาวโจนส์ ลดลง 4.2%, ดัชนี S&P500 ลดลง 4% และดัชนี Nasdaq ลดลง 4.4%
ตลาดหุ้นนิวยอร์กถูกกดดันหลังนายพาวเวลกล่าวว่า เศรษฐกิจสหรัฐจำเป็นจะต้องมีการคุมเข้มนโยบายไประยะหนึ่งก่อนที่จะสามารถควบคุมเงินเฟ้อได้ ซึ่งจะส่งผลให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจชะลอลง, ตลาดแรงงานอ่อนแอลง และส่งผลกระทบต่อภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ
"เราจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป จนกว่าจะมั่นใจว่าภารกิจของเราจะประสบความสำเร็จ โดยภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจอาจได้รับผลกระทบจากการที่เฟดยังคงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่ความล้มเหลวในการรักษาเสถียรภาพของราคาจะทำให้เกิดผลกระทบมากกว่า" นายพาวเวลกล่าวในการประชุมประจำปีของเฟดที่เมืองแจ็กสัน โฮลในวันศุกร์
นอกจากนี้ นายพาวเวลกล่าวว่า เฟดยังคงจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป และเฟดจะไม่ตัดทางเลือกในการ "ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่มากกว่าปกติ" ในเดือนก.ย.
นอกจากนี้ การเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งทำให้ตลาดคาดว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปในเดือนหน้า โดยคาดว่าเฟดอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากถึง 0.75%
หุ้นทั้ง 11 กลุ่มของดัชนี S&P500 ปรับตัวลงในวันศุกร์ นำโดยกลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศ, กลุ่มบริการสื่อสาร และกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยซึ่งร่วงลง 3.9-4.3%
หุ้นกลุ่มเติบโตและกลุ่มเทคโนโลยีร่วงลงด้วย โดยหุ้นอินวิเดีย และหุ้นแอมะซอน.คอมร่วงลง 9.2% แล 4.8% ตามลำดับ ขณะที่หุ้นอัลฟาเบท, เมตา แพลตฟอร์มส และบล็อก อิงค์ ร่วงลง 4.1-7.7%
หุ้นเดลล์ เทคโนโลยีส์ ร่วงลง 13.5% หลังคาดการณ์แนวโน้มผลประกอบการชะลอตัว เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อและแนวโน้มเศรษฐกิจที่ซบเซากระตุ้นให้ผู้บริโภคและภาคธุรกิจคุมเข้มการใช้จ่าย
หุ้นแอฟเฟิร์ม โฮลดิงส์ ซึ่งเป็นบริษัทปล่อยเงินกู้ให้กับผู้บริโภค ร่วงลง 21.3% หลังคาดการณ์รายได้ทั้งปีต่ำกว่าที่ตลาดคาดไว้
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยในวันศุกร์ว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ เพิ่มขึ้น 4.6% ในเดือนก.ค. เมื่อเทียบรายปี โดยต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 4.8% และชะลอตัวจากระดับ 4.8% ในเดือนมิ.ย.
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐยังเปิดเผยด้วยว่า การใช้จ่ายส่วนบุคคลของผู้บริโภคสหรัฐเพิ่มขึ้น 0.1% ในเดือนก.ค. ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าเพิ่มขึ้น 0.4% หลังจากเพิ่มขึ้น 1.0% ในเดือนมิ.ย. ส่วนรายได้ส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือนก.ค. และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.5%
นอกจากนี้ ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 58.2 ในเดือนส.ค. โดยสูงกว่าตัวเลขเบื้องต้นที่ระดับ 55.1 จากระดับ 51.5 ในเดือนก.ค.