ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบในวันจันทร์ (29 ส.ค.) โดยดาวโจนส์ปรับตัวลงต่อเนื่องจากวันศุกร์ หลังจากนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) แสดงความมุ่งมั่นที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเชิงรุกเพื่อสกัดเงินเฟ้อ แม้อาจจะทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงก็ตาม
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 32,098.99 จุด ลดลง 184.41 จุด หรือ -0.57%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,030.61 จุด ลดลง 27.05 จุด หรือ -0.67% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 12,017.67 จุด ลดลง 124.04 จุด หรือ -1.02%
นายพาวเวลกล่าวในการประชุมประจำปีของเฟดที่เมืองแจ็กสัน โฮลเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาว่า ภารกิจของเฟดในการต่อสู้กับเงินเฟ้อยังไม่เสร็จสิ้น โดยเฟดจะยังคุมเข้มนโยบายการเงินต่อไป ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจและตลาดแรงงานของสหรัฐ
นายพาวเวลยังกล่าวด้วยว่า หลังจากเสร็จสิ้นการใช้มาตรการปรับขึ้นดอกเบี้ยแล้ว เฟดจะยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับสูงต่อไปอีกระยะหนึ่ง ซึ่งสวนทางกับที่ตลาดคาดการณ์ว่าเฟดจะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีหน้า
ถ้อยแถลงของนายพาวเวลส่งผลให้นักลงทุนปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยของเฟดในการประชุมเดือนก.ย. โดยล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า ขณะนี้นักลงทุนให้น้ำหนัก 66.5% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% สู่ระดับ 3.00-3.25% ในการประชุมวันที่ 20-21 ก.ย. และให้น้ำหนักเพียง 33.5% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50%
หุ้นกลุ่มเติบโต (Growth Stock) ซึ่งรวมถึงหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีและกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยร่วงลง หลังจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐอายุ 10 ปีพุ่งขึ้นแตะระดับ 3.115% เมื่อคืนนี้ โดยหุ้นเมตา แพลทฟอร์มส์ ร่วงลง 1.61% หุ้นแอปเปิล ดิ่งลง 1.37% หุ้นไมโครซอฟท์ ลดลง 1.07% หุ้นอัลฟาเบท ลดลง 0.83% หุ้นคาปรี โฮลดิ้งส์ ลดลง 0.63% หุ้นราล์ฟ ลอเรน ร่วงลง 1.03%
หุ้นบริสทอล-ไมเยอร์ส สควิบบ์ ซึ่งเป็นบริษัทเวชภัณฑ์รายใหญ่ของสหรัฐ ร่วงลง 6.24% หลังมีรายงานว่าผลการทดลองยารักษาภาวะขาดเลือดเลี้ยงสมองยังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย
อย่างไรก็ดี หุ้นกลุ่มพลังงานพุ่งขึ้นหลังจากราคาน้ำมัน WTI ทะยานขึ้นกว่า 4% โดยหุ้นโคโนโคฟิลลิปส์ บวก 0.92% หุ้นออคซิเดนเชียล ปิโตรเลียม พุ่งขึ้น 2.32% หุ้นเชฟรอน บวก 0.74% หุ้นเอ็กซอน โมบิล พุ่งขึ้น 2.30%
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ เฟดสาขาดัลลัสเปิดเผยผลสำรวจระบุว่า ดัชนีชี้วัดกิจกรรมในภาคธุรกิจโดยรวมในรัฐเท็กซัสปรับตัวขึ้นสู่ระดับ -12.9 ในเดือนส.ค. ซึ่งสอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ จากระดับ -22.6 ในเดือนก.ค.
อย่างไรก็ดี ดัชนียังคงมีค่าเป็นลบ ซึ่งบ่งชี้ถึงภาวะหดตัวของภาคการผลิตในรัฐเท็กซัส โดยดัชนีหดตัวเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน หลังถูกกระทบจากการชะลอตัวของคำสั่งซื้อใหม่และการจ้างงาน ขณะที่ภาคธุรกิจยังคงขาดความเชื่อมั่นในช่วง 6 เดือนข้างหน้า
นักลงทุนจับตาข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่น ๆ ของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ซึ่งรวมถึงดัชนีราคาบ้านเดือนมิ.ย.โดยเอสแอนด์พี/เคส-ชิลเลอร์, ตัวเลขการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) เดือนก.ค., ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือนส.ค.จาก ADP, จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายเดือนส.ค.จากเอสแอนด์พี โกลบอล, ดัชนีภาคการผลิตเดือนส.ค.จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM), การใช้จ่ายด้านการก่อสร้างเดือนก.ค., ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนส.ค. และยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนก.ค.