ตลาดหุ้นยุโรปปิดลดลงในวันพฤหัสบดี (1 ก.ย.) เป็นวันที่ 5 ติดต่อกันและแตะระดับต่ำสุดในรอบ 7 สัปดาห์ โดยถูกกดดันจากความวิตกเกี่ยวกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเชิงรุก และอัตราเงินเฟ้อที่สูงเป็นประวัติการณ์
ทั้งนี้ ดัชนี STOXX 600 ปิดที่ 407.66 จุด ลดลง 7.46 จุด หรือ -1.80%
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 6,034.31 จุด ลดลง 90.79 จุด หรือ -1.48%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 12,630.23 จุด ลดลง 204.73 จุด หรือ -1.60% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,148.50 จุด ลดลง 135.65 จุด หรือ -1.86%
หุ้นทุกกลุ่มปรับตัวลง หลังการเปิดเผยผลสำรวจบ่งชี้ว่า กิจกรรมการผลิตของยูโรโซนหดตัวลงเป็นเดือนที่ 2 ในเดือนส.ค. เนื่องจากอุปสงค์ที่อ่อนแอลงทำให้โรงงานต่าง ๆ ไม่สามารถขายสินค้าได้มากเท่าที่ผลิต และทำให้สต็อกสินค้าเพิ่มสูงขึ้น
ตลาดถูกกดดันอยู่แล้วจากข้อมูลเงินเฟ้อของยูโรโซนที่พุ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์อีกครั้งในเดือนที่ผ่านมา
ตลาดการเงินปรับตัวรับโอกาสราว 80% ที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมสัปดาห์หน้า เพิ่มขึ้นจากระดับ 50% ที่มีการคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้
นอกจากนี้ ตลาดยังถูกกดดันจากรายงานข่าวที่ว่า เฉิงตู ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ที่สุดของจีนประกาศล็อกดาวน์ เพื่อตรวจหาเชื้อโควิด-19 ทั่วเมืองเป็นเวลา 4 วันนั้น
หุ้นกลุ่มเหมืองแร่ซึ่งพึ่งพาตลาดจีน ร่วงลง 3.8% โดยนำตลาดร่วงลงตามทิศทางราคาโลหะ ขณะที่หุ้นกลุ่มสินค้าหรูหราก็เผชิญกับแรงกดดันด้วย โดยหุ้นหลุยส์-วิตตอง, หุ้นเคอริง และหุ้นแอร์เมส ร่วงลงราว 2.2-2.5%
ส่วนหุ้นกลุ่มปลอดภัย อาทิ กลุ่มสาธารณูปโภคและกลุ่มเทเลคอมปรับตัวลงน้อยที่สุด
หุ้นรายตัวที่ปรับตัวลง อาทิ ลุฟท์ฮันซ่าของเยอรมนี ร่วงลง 3.1% หลังสหภาพนักบินประกาศหยุดงานประท้วงเป็นเวลา 24 ชั่วโมงในวันศุกร์นี้ หลังจากไม่สามารถบรรลุข้อตกลงเรื่องค่าจ้าง
หุ้นเรกคิทท์ เบนคีเซอร์ ร่วงลง 5.2% หลังประกาศว่า นายแลกซ์แมน นรสิมหาน ซีอีโอของบริษัทจะลาออกจากตำแหน่งสิ้นเดือนก.ย.หลังจากดำรงตำแหน่งมานาน 3 ปี