ดัชนีดาวโจนส์ดิ่งลงอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดทรุดตัวลงกว่า 500 จุด หลุดแนว 30,000 จุด ท่ามกลางความกังวลที่ว่า การที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดเกินไปจะส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐเผชิญภาวะถดถอย
นอกจากนี้ ตลาดยังถูกกดดันจากการที่เอสแอนด์พี โกลบอลเปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นของสหรัฐหดตัวลงเป็นเดือนที่ 3
ณ เวลา 22.50 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 29,510.25 จุด ลบ 566.43 จุด หรือ 1.88% ขณะที่ดัชนี S&P 500 ร่วงลง 2.07% และดัชนี Nasdaq ดิ่งลง 2.03%
หุ้นทุกกลุ่มปรับตัวลงในวันนี้ นำโดยหุ้นกลุ่มพลังงานตามการดิ่งลงของราคาน้ำมันในตลาด
คาดว่าดัชนีดาวโจนส์จะปิดตลาดร่วงลงเป็นวันที่ 4 ในวันนี้ และมีแนวโน้มปรับตัวลงเป็นสัปดาห์ที่ 5 ในรอบ 6 สัปดาห์
ทั้งนี้ ดัชนีดาวโจนส์ดิ่งลง 2.4% นับตั้งแต่ต้นสัปดาห์ และขณะนี้ปรับตัวใกล้ระดับต่ำสุดในปีนี้ที่ทำไว้ในเดือนมิ.ย. ส่วนดัชนี S&P 500 และดัชนี Nasdaq ร่วงลง 3% และ 3.3% ตามลำดับ
นายสตีฟ แฮงค์ ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกิ้นส์ กล่าวว่า มีความเป็นไปได้ 80% ที่เศรษฐกิจสหรัฐจะเข้าสู่ภาวะถดถอย หากเฟดยังคงใช้มาตรการปรับลดขนาดงบดุล (QT) ต่อไป
นายแฮงค์กล่าวว่า เฟดเป็นต้นเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อพุ่งขึ้นด้วยการอัดฉีดเม็ดเงินจำนวนมากเข้าสู่ระบบนับตั้งแต่ปี 2563 ซึ่งเป็นปัจจัยผลักดันให้ราคาทะยานขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคเต็มใจจ่ายมากขึ้นสำหรับการซื้อสินค้า
ส่วนผลการสำรวจของสำนักข่าว CNBC พบว่า นักวิเคราะห์และผู้จัดการกองทุนคาดการณ์ว่ามีความเป็นไปได้ 52% ที่เศรษฐกิจสหรัฐจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในช่วง 12 เดือนข้างหน้า
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปี ซึ่งมีความอ่อนไหวต่อนโยบายการเงินของเฟด พุ่งขึ้นเหนือระดับ 4.2% ในวันนี้ แตะระดับสูงสุดในรอบ 15 ปี และอยู่สูงกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีและ 30 ปี
การที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นดีดตัวสูงกว่าระยะยาว ส่งผลให้ตลาดพันธบัตรสหรัฐเกิดภาวะ inverted yield curve ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณเศรษฐกิจถดถอย
ทั้งนี้ เฟดมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.75% สู่ระดับ 3.00-3.25% ในการประชุมรอบนี้ พร้อมกับส่งสัญญาณว่าเฟดจะยังคงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปจนแตะระดับ 4.6% ในปี 2566
ในการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) เจ้าหน้าที่เฟดคาดว่าจะไม่มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยจนกว่าจะถึงปี 2567 โดยคาดว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีดังกล่าว และ 4 ครั้งในปี 2568 ซึ่งจะทำให้อัตราดอกเบี้ยระยะยาวปรับตัวลงสู่ระดับ 2.9%
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่เฟดคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยจะแตะระดับ 4.4% ในช่วงสิ้นปีนี้ และแตะ 4.6% ในสิ้นปี 2566 ก่อนที่จะชะลอตัวลงสู่ระดับ 3.9% ในปี 2567 และทรงตัวที่ 3.9% ในปี 2568 ขณะที่อัตราดอกเบี้ยระยะยาวอยู่ที่ 2.5%
นักลงทุนคาดการณ์ว่า เฟดจะยังคงเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมอีก 2 ครั้งที่เหลือในปีนี้ หลังถอดสัญญาณจาก Dot Plot และถ้อยแถลงของนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด
นายพาวเวลกล่าวว่า เขาจะไม่พิจารณาเรื่องการปรับลดอัตราดอกเบี้ยจนกว่าจะมั่นใจว่าตัวเลขเงินเฟ้อปรับตัวลงสู่เป้าหมายของเฟดที่ระดับ 2%
นอกจากนี้ นายพาวเวลเตือนว่า การบรรลุภารกิจในการควบคุมเงินเฟ้อ อาจส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจและตลาดแรงงานของสหรัฐ
ทั้งนี้ นักลงทุนคาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมกำหนดนโยบายการเงินในเดือนพ.ย. และปรับขึ้นอีก 0.50% ในเดือนธ.ค.
หากเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวตามคาด จะส่งผลให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ติดต่อกันถึง 4 ครั้งในการประชุมเดือนมิ.ย.,ก.ค.,ก.ย.และพ.ย. ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดจะพุ่งแตะระดับ 4.25-4.50% ในช่วงสิ้นปีนี้ และจะทำให้อัตราดอกเบี้ยดังกล่าวสูงกว่าระดับ 2.50% ซึ่งเป็นระดับอัตราดอกเบี้ยที่เฟดมองว่าเป็นกลาง โดยไม่ผ่อนคลายหรือเข้มงวดจนเกินไป
ผลการสำรวจของสำนักข่าว CNBC ระบุว่า นักวิเคราะห์ในตลาดหุ้นวอลล์สตรีทคาดการณ์ว่า เฟดจะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจนแตะระดับสูงสุด และจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับดังกล่าวต่อไประยะหนึ่ง โดยเฟดจะใช้มาตรการดอกเบี้ยแบบ "ขึ้นแล้วคง" (hike and hold) แทนที่จะใช้มาตรการ "ขึ้นแล้วลง" (hike and cut) ตามที่มีการคาดการณ์ก่อนหน้านี้
ผลการสำรวจระบุว่า นักวิเคราะห์คาดว่าเฟดจะยังคงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปจนแตะระดับ 4.26% ในเดือนมี.ค.2566 โดยคาดว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับดังกล่าวเป็นเวลาเกือบ 11 เดือน ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยของบรรดานักวิเคราะห์ที่คาดว่าเฟดจะคงดอกเบี้ยเป็นเวลา 3 เดือนไปจนถึง 2 ปี
นอกจากนี้ นักวิเคราะห์ระบุว่า มีแนวโน้ม 52% ที่เศรษฐกิจสหรัฐจะเผชิญภาวะถดถอยในช่วง 12 เดือนข้างหน้า อันเนื่องจากการที่เฟดใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากเกินไป
ขณะเดียวกัน นักวิเคราะห์มองว่าเฟดต้องใช้เวลาอีกหลายปี ก่อนที่จะประสบความสำเร็จในการควบคุมเงินเฟ้อให้อยู่ในเป้าหมาย 2% โดยคาดว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เมื่อเทียบรายปี จะอยู่ที่ระดับ 6.8% ในช่วงสิ้นปี 2565 และอยู่ที่ 3.6% ช่วงสิ้นปี 2566 ก่อนที่จะปรับตัวลงสู่เป้าหมาย 2% ของเฟดในปี 2567