ดัชนีดาวโจนส์ปรับตัวผันผวนในวันนี้ โดยแกว่งตัวในแดนบวกลบ ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย
ณ เวลา 21.54 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 30,574.58 จุด บวก 50.78 จุด หรือ 0.17%
ดัชนีดาวโจนส์ร่วงลงในช่วงแรก โดยถูกกดดันจากการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ขณะที่ตลาดคาดว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ
นักลงทุนคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมกำหนดนโยบายการเงินในเดือนพ.ย.และธ.ค. ซึ่งจะเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.75% จำนวน 5 ครั้งติดต่อกัน หลังจากปรับขึ้น 0.75% ในเดือนมิ.ย.,ก.ค.และก.ย.
ทั้งนี้ การพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรจะทำให้บริษัทต่างๆ เผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้นจากการชำระหนี้ ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทเหล่านี้ลดการลงทุน และลดการจ่ายเงินปันผลแก่นักลงทุน
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 2 ปี ซึ่งมีความอ่อนไหวต่อนโยบายการเงินของเฟด ดีดตัวเหนือระดับ 4.5% และอยู่สูงกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีและ 30 ปี
การที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นดีดตัวสูงกว่าระยะยาว ส่งผลให้ตลาดพันธบัตรสหรัฐเกิดภาวะ inverted yield curve ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณเศรษฐกิจถดถอย
นายเจมี ไดมอน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของเจพีมอร์แกน เชส กล่าวว่า เศรษฐกิจสหรัฐและเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะถดถอยในกลางปีหน้า โดยได้รับผลกระทบจากการพุ่งขึ้นของเงินเฟ้อ, การดีดตัวของอัตราดอกเบี้ย และการที่รัสเซียส่งกำลังทหารบุกโจมตียูเครน
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปิดเผยรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (World Economic Outlook) โดยได้ปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2566 สู่ระดับ 2.7% จากเดิมที่ระดับ 2.9%
"ภาวะเลวร้ายที่สุดกำลังรออยู่ข้างหน้า และประชาชนจำนวนมากจะได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปีหน้า" รายงานระบุ
นักลงทุนจับตาผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน รวมทั้งการเปิดเผยรายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจ หรือ Beige Book จากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันนี้
ทั้งนี้ Beige Book เป็นรายงานซึ่งจะมีการเปิดเผยก่อนการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟด (FOMC) เป็นเวลา 2 สัปดาห์ โดยเป็นการประเมินภาวะเศรษฐกิจจากเจ้าหน้าที่เฟดซึ่งประจำอยู่ใน 12 เขตเศรษฐกิจของสหรัฐ ขณะที่มีการรวบรวมข้อมูลจากมุมมองของผู้นำธุรกิจ รวมทั้งนักเศรษฐศาสตร์และนายธนาคารในภูมิภาค ทำให้ Beige Book สามารถสะท้อนภาวะเศรษฐกิจสหรัฐในวงกว้าง
ส่วนการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐในวันนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขการเริ่มต้นสร้างบ้านดิ่งลง 8.1% ในเดือนก.ย. สู่ระดับ 1.439 ล้านยูนิต และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 1.475 ล้านยูนิต จากระดับ 1.566 ล้านยูนิตในเดือนส.ค.
การเริ่มต้นสร้างบ้านได้รับผลกระทบจากการพุ่งขึ้นของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนอง และราคาวัสดุก่อสร้าง