ดัชนีดาวโจนส์เปิดตลาดปรับตัวแคบในวันนี้ ขณะที่นักลงทุนจับตาทิศทางอัตราดอกเบี้ยสหรัฐ หลังมีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เริ่มแสดงความกังวลเกี่ยวกับการเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด
ณ เวลา 20.33 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 30,309.08 จุด ลบ 24.51 จุด หรือ 0.08%
หนังสือพิมพ์วอลล์สตรีท เจอร์นัลรายงานว่า เจ้าหน้าที่เฟดบางรายแสดงความกังวลเกี่ยวกับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดในขณะนี้ รวมทั้งวิตกเกี่ยวกับความเสี่ยงในการคุมเข้มนโยบายการเงินมากเกินไป
รายงานดังกล่าวช่วยให้นักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด หลังจากที่นายแพทริก ฮาร์เกอร์ ประธานเฟด สาขาฟิลาเดลเฟีย กล่าววานนี้สนับสนุนให้เฟดเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
นักลงทุนคาดการณ์ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมกำหนดนโยบายการเงินในเดือนพ.ย.และธ.ค. ซึ่งจะเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.75% จำนวน 5 ครั้งติดต่อกัน หลังจากปรับขึ้น 0.75% ในเดือนมิ.ย.,ก.ค.และก.ย. ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยของเฟดจะพุ่งแตะระดับ 4.50-4.75% ในสิ้นปีนี้
อย่างไรก็ดี การซื้อขายในตลาดยังคงถูกกดดันจากความกังวลเกี่ยวกับผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน และการดีดตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ
ราคาหุ้นของบริษัท Snap ซึ่งเป็นเจ้าของแอปพลิเคชัน Snapchat ดิ่งลงเกือบ 30% ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับผลประกอบการของบริษัท
Snap เปิดเผยว่า บริษัทมีรายได้ 1.13 พันล้านดอลลาร์ในไตรมาส 3 ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 1.14 พันล้านดอลลาร์
นอกจากนี้ Snap สร้างความตื่นตระหนกต่อนักลงทุน โดยคาดว่าจะไม่มีการขยายตัวของรายได้ในไตรมาส 4 สวนทางนักวิเคราะห์ที่คาดว่ารายได้จะพุ่งขึ้น 7%
ขณะเดียวกัน นักลงทุนจับตาการเปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 3 ของสหรัฐในสัปดาห์หน้า
ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาแอตแลนตา เปิดเผยว่า แบบจำลองคาดการณ์ GDPNow ล่าสุดแสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 2.9% ในไตรมาส 3
เฟดสาขาแอตแลนตาจะรายงานตัวเลขคาดการณ์ GDPNow ครั้งใหม่ในวันที่ 26 ต.ค. ก่อนที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐจะเปิดเผยตัวเลข GDP ประจำไตรมาส 3 ในวันที่ 27 ต.ค.
ก่อนหน้านี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่าเศรษฐกิจสหรัฐหดตัว 1.6% ในไตรมาส 1 และ 0.6% ในไตรมาส 2 ซึ่งการที่เศรษฐกิจหดตัว 2 ไตรมาสติดต่อกัน ทำให้สหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค
นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด กล่าวก่อนหน้านี้ว่า การบรรลุภารกิจในการควบคุมเงินเฟ้อของเฟด อาจส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐ และเขาจะยังไม่พิจารณาเรื่องการปรับลดอัตราดอกเบี้ยจนกว่าจะมั่นใจว่าตัวเลขเงินเฟ้อปรับตัวลงสู่เป้าหมายของเฟดที่ระดับ 2%
สำนักงานวิจัยเศรษฐกิจแห่งชาติสหรัฐ (NBER) ถือเป็นหน่วยงานในการตัดสินเกี่ยวกับการขยายตัวหรือการถดถอยของเศรษฐกิจสหรัฐ โดยจะมีการพิจารณาจากหลายปัจจัย ได้แก่ การจ้างงาน การบริโภค การผลิตในภาคอุตสาหกรรม และรายได้ส่วนบุคคล ก่อนที่จะทำการประกาศอย่างเป็นทางการ