ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกในวันศุกร์ (11 พ.ย.) โดยยังคงได้แรงหนุนจากความหวังที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะชะลออัตราการปรับขึ้นดอกเบี้ยหลังจากที่มีการเปิดเผยข้อมูลเงินเฟ้อของสหรัฐต่ำกว่าคาดในเดือนต.ค.
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 33,747.86 จุด เพิ่มขึ้น 32.49 จุด หรือ +0.10%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,992.93 จุด เพิ่มขึ้น 36.56 จุด หรือ +0.92% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 11,323.33 จุด เพิ่มขึ้น 209.18 จุด หรือ +1.88%
ในรอบสัปดาห์นี้ ดัชนีดาวโจนส์บวก 4.1%, ดัชนี S&P500 เพิ่มขึ้น 5.9% และดัชนี Nasdaq พุ่งขึ้น 8.1%
ดัชนี S&P500 ปรับตัวขึ้นรายสัปดาห์มากที่สุดนับตั้งแต่เดือนมิ.ย. และดัชนี Nasdaq ปรับตัวขึ้นรายสัปดาห์มากที่สุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค.
ทั้งนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐได้แรงหนุนจากการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ที่ต่ำกว่าคาด ซึ่งบ่งชี้ว่าเงินเฟ้อของสหรัฐได้ผ่านจุดสูงสุดแล้ว และจะเป็นปัจจัยหนุนให้เฟดชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
บรรดานักลงทุนคาดการณ์ว่าเฟดจะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมนโยบายการเงินเดือนธ.ค. โดย FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนักสูงถึง 81% ที่เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยเพียง 0.50% ในการประชุมวันที่ 13-14 ธ.ค. และให้น้ำหนัก 19% ที่เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.75%
หุ้น 6 ใน 11 กลุ่มของดัชนี S&P500 ปิดบวก นำโดยหุ้นกลุ่มพลังงานเพิ่มขึ้น 3.07% และหุ้นบริการด้านการสื่อสารเพิ่มขึ้น 2.48%
หุ้นแอมะซอน พุ่งขึ้น 4.3% ขณะที่หุ้นแอปเปิลและไมโครซอฟท์ ปรับตัวขึ้นมากกว่า 1% ซึ่งได้ช่วยหนุนดัชนี Nasdaq พุ่งขึ้นอย่างมาก
หุ้นของบริษัทจีนที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐปรับตัวขึ้นด้วย โดยหุ้นอาลีบาบา กรุ๊ป โฮลดิง บวก 1.4% หลังจีนผ่อนคลายมาตรการบางส่วนในการควบคุมโรคโควิด-19
แต่การลดลงของหุ้นกลุ่มเฮลท์แคร์ได้สกัดการปรับตัวขึ้นของดัชนีดาวโจนส์ โดยหุ้นยูไนเต็ดเฮลท์ กรุ๊ป ร่วงลง 4.1%
นอกจากนี้ ปัจจัยที่มีส่วนกดดันตลาดได้แก่การที่บริษัทเอฟทีเอ็กซ์ (FTX) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีเปิดเผยว่า บริษัทจะเริ่มกระบวนการล้มละลายในสหรัฐ และนายแซม แบงก์แมน-ฟรายด์ ซีอีโอได้ลาออกจากตำแหน่งเนื่องจากวิกฤติสภาพคล่องซึ่งทำให้หน่วยงานด้านกฎระเบียบทั่วโลกต้องเข้าแทรกแซง