ดัชนีดาวโจนส์ฟิวเจอร์พุ่งขึ้นกว่า 100 จุด ขานรับคาดการณ์ที่ว่า สหรัฐจะเปิดเผยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งบ่งชี้ว่าเงินเฟ้อได้ผ่านจุดสูงสุดแล้ว
ณ เวลา 20.13 น.ตามเวลาไทย ดัชนีดาวโจนส์ฟิวเจอร์บวก 155 จุด หรือ 0.46 สู่ระดับ 34,198 จุด
กระทรวงแรงงานสหรัฐจะเปิดเผยดัชนี PPI ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้ผลิต ประจำเดือนพ.ย.ในวันนี้
นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าตัวเลข PPI ดังกล่าวจะบ่งชี้ว่าเงินเฟ้อของสหรัฐได้ผ่านจุดสูงสุดแล้ว
ทั้งนี้ ผลการสำรวจนักวิเคราะห์คาดว่า ดัชนี PPI ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 7.2% ในเดือนพ.ย. เมื่อเทียบรายปี โดยชะลอตัวจากระดับ 8.0% ในเดือนต.ค.
ส่วนดัชนี PPI พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน คาดว่าปรับตัวขึ้น 5.9% ในเดือนพ.ย. เมื่อเทียบรายปี จากระดับ 6.7% ในเดือนต.ค.
นอกจากนี้ ตลาดจับตาการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันที่ 13-14 ธ.ค. ซึ่งเป็นการประชุมครั้งสุดท้ายของปีนี้ รวมทั้งถ้อยแถลงของนายพาวเวล ซึ่งจะบ่งชี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของเฟดในปี 2566
ขณะเดียวกัน เฟดจะเปิดเผยคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) ในการประชุมครั้งนี้ ซึ่งจะส่งสัญญาณแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของเฟดจนถึงปี 2568
นักลงทุนคาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% สู่ระดับ 4.25-4.50% ในการประชุมรอบนี้ หลังจากปรับขึ้น 0.75% เป็นจำนวน 4 ครั้งติดต่อกัน ขณะที่นายพาวเวลส่งสัญญาณว่าเฟดจะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนธ.ค.
นอกจากนี้ ตลาดคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยทะลุ 5.00% ในกลางปีหน้า หลังการเปิดเผยรายงานการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่แข็งแกร่ง ซึ่งบ่งชี้ว่าการคุมเข้มนโยบายการเงินของเฟดในช่วงที่ผ่านมายังคงไม่สามารถสกัดความร้อนแรงของตลาดแรงงาน ทำให้มีการคาดการณ์ว่าเฟดจะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปในปีหน้าเพื่อทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงและสกัดการพุ่งขึ้นของเงินเฟ้อ
FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า ขณะนี้นักลงทุนคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสู่กรอบ 5.00-5.25% ในเดือนพ.ค.2566 หลังจากก่อนหน้านี้คาดการณ์ที่ระดับ 4.75-5.00%
อย่างไรก็ดี ธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด ออกรายงานคาดการณ์ว่า เฟดอาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยรวม 2.00% ในปีหน้า หากสหรัฐเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอย
รายงานระบุว่า เฟดได้ประเมินความเสี่ยงของเงินเฟ้อต่ำเกินไปในปี 2565 ขณะที่นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ยอมรับว่าเงินเฟ้อไม่ใช่ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นเพียงชั่วคราวตามที่เฟดระบุก่อนหน้านี้ ทำให้เฟดต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรุนแรงในปีนี้เพื่อสกัดเงินเฟ้อ
ทั้งนี้ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปี 2565 ทำให้เฟดมีความเสี่ยงจากการที่เศรษฐกิจอาจเผชิญภาวะถดถอยในปี 2566 ขณะที่เฟดประเมินความเสียหายต่อเศรษฐกิจต่ำเกินไปจากการใช้นโยบายคุมเข้มทางการเงิน
"แถลงการณ์ของ FOMC มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่เน้นความจำเป็นในการขยายเวลาคุมเข้มนโยบายการเงิน ไปสู่ความจำเป็นในการจัดสรรสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจเพื่อหลีกเลี่ยงการทรุดตัวลงอย่างรุนแรง" รายงานระบุ