ดาวโจนส์ร่วงวันที่ 5 กังวลบอนด์ยีลด์พุ่ง,ญี่ปุ่นคุมเข้มนโยบายการเงิน

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday December 20, 2022 21:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีดาวโจนส์ปรับตัวลงติดต่อกันเป็นวันที่ 5 ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับนโยบายการเงินของญี่ปุ่น

ณ เวลา 21.45 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 32,702.33 จุด ลบ 55.21 จุด หรือ 0.17%

นอกจากนี้ ตลาดถูกกดดันจากการดีดตัวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ขณะที่นักลงทุนพากันเทขายพันธบัตร หลังจากธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) สร้างความประหลาดใจต่อตลาดด้วยการประกาศขยายกรอบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลในวันนี้

ทั้งนี้ การปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ซึ่งเป็นพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่ใช้อ้างอิงในการกำหนดราคาของตราสารหนี้ทั่วโลก ซึ่งรวมถึงอัตราดอกเบี้ยจำนองของสหรัฐ จะทำให้ผู้บริโภคมีเงินสำหรับการใช้จ่ายลดน้อยลง ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการจ่ายเงินกู้จำนองเพิ่มมากขึ้น และบริษัทต่างๆจะเผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้นจากการชำระหนี้ ทำให้บริษัทเหล่านี้ลดการลงทุน และลดการจ่ายเงินปันผลแก่นักลงทุน

นักลงทุนกังวลว่าญี่ปุ่นจะหันมาใช้นโยบายคุมเข้มทางการเงินตามรอยธนาคารกลางทั่วโลก หลังจาก BOJ ประกาศขยายกรอบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี

นักวิเคราะห์หลายสำนักต่างระบุตรงกันว่า ปรากฎการณ์ "ซานต้า แรลลี่" อาจไม่เกิดขึ้นในตลาดหุ้นวอลล์สตรีทปีนี้ ท่ามกลางความกังวลว่าการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะฉุดเศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอย

ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทร่วงลงต่อเนื่องจากที่ทรุดตัวลงอย่างหนักในสัปดาห์ที่แล้ว โดยปรับตัวลงเป็นสัปดาห์ที่ 2 ติดต่อกัน ซึ่งถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนก.ย. ทำให้มีการคาดการณ์ว่า ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทจะปิดตลาดในแดนลบส่งท้ายปีนี้

ทั้งนี้ ดัชนีดาวโจนส์ร่วงลง 281.76 จุด หรือ 0.85% ในวันศุกร์ ส่งผลให้ดิ่งลง 1.66% ในสัปดาห์ที่แล้ว และทรุดตัวลง 4.83% นับตั้งแต่ต้นเดือนธ.ค. ขณะที่ดัชนี S&P 500 ร่วงลง 1.11% ในวันศุกร์ ดิ่งลง 2.08% ในสัปดาห์ที่แล้ว และทรุดตัวลง 5.58% นับตั้งแต่ต้นเดือนธ.ค. ส่วนดัชนี Nasdaq ร่วงลง 0.97% ในวันศุกร์ ดิ่งลง 2.72% ในสัปดาห์ที่แล้ว และทรุดตัวลง 6.65% นับตั้งแต่ต้นเดือนธ.ค.

"เรายังไม่เห็นวี่แววว่าซานต้าจะมาในปีนี้ โดยตลาดมีแต่ข่าวร้ายเต็มไปหมด และเฟดจะยังไม่ดำเนินการอะไรก่อนถึงเดือนก.พ.ปีหน้า และต่อให้ตลาดฟื้นตัวขึ้น แต่ก็คงไม่สามารถชดเชยช่วงติดลบจากสัปดาห์ที่แล้วได้หมด" นายหลุยส์ นาเวลลิเออร์ ผู้ก่อตั้งบริษัท Navellier & Associates กล่าว

ส่วนนางซิลเวีย จาบลอนสกี ซีอีโอและหัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายการลงทุนของ Defiance ETFs กล่าวว่า นโยบายการเงินที่เข้มงวดของเฟดกำลังเป็นอุปสรรคต่อการเกิดปรากฎการณ์ "ซานต้า แรลลี่" ในปีนี้

"เฟดกำลังปิดถนนขวางทางรถเลื่อนของซานต้า" นางจาบลอนสกีกล่าว

นางจาบลอนสกีระบุว่า ถ้อยแถลงของนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ส่งสัญญาณอย่างเข้มงวดและชัดเจนว่า เขาไม่มีแผนที่จะชะลอ หรือหันเหทิศทางจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด

"เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยสูงขึ้นและยาวนานขึ้น และนโยบายการเงินจะเข้มงวดกว่าที่คาดไว้ ขณะที่ตลาดจะถูกกดดันเป็นเวลานานขึ้นจากนโยบายของเฟด แม้มีการดีดตัวขึ้นชั่วคราวขานรับตัวเลข CPI ก่อนหน้านี้ แต่ท่าทีของเฟดจะทำให้ตลาดเผชิญภาวะผันผวนในระยะใกล้" นางจาบลอนสกีกล่าว

นายคริส ลาร์คิน นักวิเคราะห์จากมอร์แกน สแตนลีย์กล่าวว่า "เรากำลังเข้าสู่ช่วงปลายปี และนักลงทุนต่างก็รอคอยปรากฎการณ์ 'ซานต้า แรลลี่' แต่ขณะนี้ตลาดกลับร่วงลงอย่างต่อเนื่อง นักลงทุนคาดหวังว่าการที่เงินเฟ้อชะลอตัวลงอาจจะทำให้เฟดชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนตลาด แต่เฟดและนายพาวเวลยังคงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและส่งสัญญาณเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อไป ซึ่งสร้างความกังวลให้กับนักลงทุน"

ด้านนายเอ็ด โมยา นักกลยุทธ์ด้านการตลาดอาวุโสของบริษัท Oanda ระบุว่า "เฟดใช้นโยบายการเงินอย่างเข้มงวด โดยได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยถึง 4% ภายในเวลา 9 เดือน ทำให้มีความเสี่ยงมากขึ้นในการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย ขณะที่นายพาวเวลส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป"

ทั้งนี้ ปรากฎการณ์ "ซานต้า แรลลี่" มักเกิดขึ้นเป็นเวลา 7 วันทำการ โดยมีขึ้นในช่วง 5 วันทำการสุดท้ายของปีปัจจุบัน รวมทั้ง 2 วันแรกของปีใหม่

นักลงทุนจับตาดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ของสหรัฐในวันศุกร์นี้ ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่า ดัชนี PCE จะบ่งชี้ว่าอัตราเงินเฟ้อได้ผ่านจุดสูงสุดแล้ว

ทั้งนี้ ผลการสำรวจนักวิเคราะห์คาดว่า ดัชนี PCE ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 5.5% ในเดือนพ.ย. เมื่อเทียบรายปี โดยชะลอตัวจากระดับ 6.0% ในเดือนต.ค.

เมื่อเทียบรายเดือน คาดว่าดัชนี PCE ทั่วไปปรับตัวขึ้น 0.1% ในเดือนพ.ย. จากระดับ 0.3% ในเดือนต.ค.

นอกจากนี้ ดัชนี PCE พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญ คาดว่าปรับตัวขึ้น 4.7% ในเดือนพ.ย. เมื่อเทียบรายปี โดยชะลอตัวจากระดับ 5.0% ในเดือนต.ค.

เมื่อเทียบรายเดือน คาดว่าดัชนี PCE พื้นฐานปรับตัวขึ้น 0.2% ในเดือนพ.ย. ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือนต.ค.

ทั้งนี้ ดัชนี PCE ถือเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) จากกระทรวงแรงงานสหรัฐ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ