ดัชนีดาวโจนส์ร่วงลงกว่า 100 จุด หลังสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ในวันนี้
ณ เวลา 21.42 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ลบ 169.25 จุด หรือ 0.51% สู่ระดับ 32,858.24 จุด
นักวิเคราะห์ระบุว่า แม้สหรัฐเปิดเผยตัวเลขดัชนี PCE ที่สอดคล้องกับการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ แต่ตัวเลขดังกล่าวยังคงอยู่ในระดับสูง และบ่งชี้ว่าเงินเฟ้อยังคงอยู่สูงกว่าเป้าหมายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ระดับ 2% ส่งผลให้เฟดยังคงเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปเพื่อสกัดเงินเฟ้อ
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนี PCE ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 5.5% ในเดือนพ.ย. เมื่อเทียบรายปี สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ และชะลอตัวจากระดับ 6.1% ในเดือนต.ค.
เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE ทั่วไป เพิ่มขึ้น 0.1% ในเดือนพ.ย. สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ หลังจากดีดตัวขึ้น 0.4% ในเดือนต.ค.
ส่วนดัชนี PCE พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญ เพิ่มขึ้น 4.7% ในเดือนพ.ย. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนต.ค.2564 และสอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ หลังจากเพิ่มขึ้น 5.0% ในเดือนต.ค.
เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE พื้นฐานปรับตัวขึ้น 0.2% ในเดือนพ.ย. สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ หลังจากดีดตัว 0.3% ในเดือนต.ค.
ทั้งนี้ ดัชนี PCE ถือเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐยังเปิดเผยว่า การใช้จ่ายส่วนบุคคลของผู้บริโภคสหรัฐเพิ่มขึ้น 0.1% ในเดือนพ.ย. ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.2%
นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ปรับตัวเลขการใช้จ่ายของผู้บริโภคในเดือนต.ค.เป็นเพิ่มขึ้น 0.9% จากเดิมรายงานว่าเพิ่มขึ้น 0.8%
ขณะเดียวกัน กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐ เช่น เครื่องบิน รถยนต์ และเครื่องจักรขนาดใหญ่ที่มีอายุการใช้งานตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป ดิ่งลง 2.1% ในเดือนพ.ย. หลังจากเพิ่มขึ้น 0.7% ในเดือนต.ค.
นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่ายอดสั่งซื้อสินค้าคงทนลดลงเพียง 0.6% ในเดือนพ.ย.
ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนซึ่งร่วงลง 2.1% ในเดือนพ.ย. ถือเป็นการทรุดตัวลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย.2563 โดยได้รับผลกระทบจากการดิ่งลงของคำสั่งซื้อเครื่องบิน
ส่วนยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนพื้นฐาน ซึ่งเป็นคำสั่งซื้อสินค้าทุนที่ไม่รวมเครื่องบิน และสินค้าด้านอาวุธ โดยเป็นสิ่งบ่งชี้แผนการใช้จ่ายของภาคธุรกิจ เพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือนพ.ย.