ดัชนีดาวโจนส์พลิกร่วงลงสู่แดนลบ โดยถูกกดดันจากการดิ่งลงของหุ้นกลุ่มพลังงาน
ณ เวลา 22.20 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ลบ 44.91 จุด หรือ 0.14% สู่ระดับ 33,091.46 จุด
หุ้นกลุ่มพลังงานฉุดตลาดในวันนี้ ขณะที่สัญญาน้ำมันดิบ WTI ร่วงลงเกือบ 4% หลุดระดับ 74 ดอลลาร์ ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย รวมทั้งการพุ่งขึ้นของจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในจีน
ดัชนีดาวโจนส์พุ่งขึ้นกว่า 100 จุดในช่วงแรก ขณะที่นักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดยมีการคาดการณ์ว่า รายงานการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่จะมีการเปิดเผยในคืนนี้ จะบ่งชี้ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างระมัดระวังในปีนี้ โดยจะไม่ให้กระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐ
ตลาดการเงินจับตาการเปิดเผยรายงานการประชุมนโยบายการเงินของเฟดประจำเดือนธ.ค.ในคืนนี้ ซึ่งจะบ่งชี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของเฟดในปีนี้
นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า รายงานการประชุมดังกล่าวจะบ่งชี้ว่า เงินเฟ้อยังคงเป็นปัจจัยสร้างความกังวลสูงสุดของเฟด หลังจากที่ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ซึ่งเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ พุ่งแตะระดับ 5.5% ในเดือนพ.ย. ซึ่งสูงกว่า 2 เท่าเมื่อเทียบกับเป้าหมายเงินเฟ้อของเฟดที่ระดับ 2%
"รายงานจะระบุว่า เจ้าหน้าที่เฟดมีมุมมองคัดค้านการผ่อนคลายนโยบายการเงินเร็วเกินไป โดยจะให้ความสำคัญต่อแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป และจะยังคงอยู่ในระดับสูง" นายเดเรค แทง นักเศรษฐศาสตร์จาก LH Meyer ระบุ
อย่างไรก็ดี คาดว่ารายงานดังกล่าวบ่งชี้ว่า เฟดจะเข้าสู่ขั้นตอนใหม่ในการพิจารณานโยบายการเงิน โดยจะให้น้ำหนักมากขึ้นต่อความเสี่ยงจากนโยบายของเฟดที่จะกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ นอกเหนือจากความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อ
ทั้งนี้ เฟดเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีที่แล้วเพื่อสกัดเงินเฟ้อ หลังจากที่รัสเซียประกาศบุกโจมตียูเครนในวันที่ 24 ก.พ.2565 ทำให้สหรัฐและชาติตะวันตกออกมาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย ส่งผลให้ทั่วโลกเกิดการขาดแคลนพลังงานและอาหารอย่างหนัก และเป็นสาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อพุ่งขึ้น
เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากถึง 7 ครั้งในปีที่แล้ว โดยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% จำนวน 1 ครั้ง, 0.50% จำนวน 2 ครั้ง และ 0.75% จำนวน 4 ครั้ง ส่งผลให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรวม 4.25%
คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟด (FOMC) มีมติเป็นเอกฉันท์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.50% สู่ระดับ 4.25-4.50% ในการประชุมเดือนธ.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 15 ปี
ในการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) เจ้าหน้าที่เฟดคาดว่าจะยังคงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปในปี 2566 และจะไม่มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยจนกว่าจะถึงปี 2567 โดยเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงสุดสู่ระดับ 5.1% ในปี 2566 ก่อนที่จะสิ้นสุดวัฏจักรปรับขึ้นดอกเบี้ย โดยระดับดังกล่าวเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค.2550
หลังจากที่เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสู่ระดับ 5.1% ในปี 2566 หรือเทียบเท่ากับช่วงเป้าหมายอัตราดอกเบี้ย 5.00-5.25% เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับดังกล่าวเป็นระยะเวลาหนึ่ง เพื่อจับตาดูผลกระทบของการคุมเข้มนโยบายการเงินที่มีต่อเศรษฐกิจสหรัฐ
นอกจากนี้ เฟดคาดการณ์ว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยจำนวน 1.0% ในปี 2567 ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยปรับตัวลงสู่ระดับ 4.1% ในช่วงสิ้นปีดังกล่าว และเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีก 1.0% ในปี 2568 สู่ระดับ 3.1% ก่อนที่อัตราดอกเบี้ยระยะยาวจะปรับตัวสู่ระดับ 2.5%