ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกในวันศุกร์ (13 ม.ค.) โดยได้แรงหนุนจากหุ้นกลุ่มธนาคารที่ปรับตัวขึ้นหลังจากเปิดเผยผลประกอบการรายไตรมาสที่แข็งแกร่ง ขณะที่ดัชนี S&P500 และดัชนี Nasdaq ปิดตลาดที่ระดับสูงสุดในรอบ 1 เดือน
ทั้งนี้ ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 34,302.61 จุด เพิ่มขึ้น 112.64 จุด หรือ +0.33%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,999.09 จุด เพิ่มขึ้น 15.92 จุด หรือ +0.40% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 11,079.16 จุด เพิ่มขึ้น 78.05 จุด หรือ +0.71%
ดัชนี S&P500 ปิดที่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 13 ธ.ค. ขณะที่ดัชนี Nasdaq ปิดที่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 14 ธ.ค.
ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ดัชนีดาวโจนส์ปิดบวก 2%, ดัชนี S&P500 ปิดเพิ่มขึ้น 2.7% และดัชนี Nasdaq ปิดปรับตัวขึ้น 4.8% ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นรายสัปดาห์มากที่สุดเมื่อคิดเป็นเปอร์เซ็นต์นับตั้งแต่วันที่ 11 พ.ย.
ดัชนี S&P500 ปรับตัวขึ้น 4.2% แล้วในปีนี้ ขณะที่ดัชนี Cboe Volatility ซึ่งวัดความวิตกของนักลงทุนนั้น ปิดที่ระดับต่ำสุดในรอบ 1 ปี
หุ้นกลุ่มการเงินเป็นหนึ่งในกลุ่มที่หนุนดัชนี S&P500 ขึ้นมากที่สุด
เจพีมอร์แกน เชส แอนด์ โค และแบงก์ ออฟ อเมริกา เปิดเผยผลประกอบการรายไตรมาสที่แข็งแกร่งเกินคาด ขณะที่เวลส์ ฟาร์โก และซิตี้กรุ๊ป เปิดเผยผลกำไรต่ำกว่าคาด แต่หุ้นธนาคารทั้ง 4 ตัวดังกล่าวปรับตัวขึ้น โดยหุ้นเจพีมอร์แกน พุ่งขึ้น 2.5% และดัชนี S&P500 หุ้นกลุ่มธนาคารปิดบวก 1.6%
นอกจากนี้ ตลาดยังได้แรงหนุนจากการที่มหาวิทยาลัยมิชิแกนเปิดเผยผลสำรวจในวันศุกร์ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐดีดตัวขึ้นสู่ระดับ 64.6 ในเดือนม.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย. 2565 และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 60.7 หลังจากแตะระดับ 59.7 ในเดือนธ.ค. โดยดัชนีความเชื่อมั่นได้แรงหนุนจากการที่ผู้บริโภคคลายความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อและภาวะเศรษฐกิจถดถอย
ผู้บริโภคคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น 4.0% ในช่วง 1 ปีข้างหน้า ต่ำกว่าระดับ 4.4% ที่มีการสำรวจในเดือนที่แล้ว และผู้บริโภคคาดการณ์ว่า ในช่วง 5 ปีข้างหน้า เงินเฟ้อจะแตะระดับ 3.0% สูงกว่าระดับ 2.9% ที่มีการสำรวจในเดือนที่แล้ว
นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน และในช่วง 6 เดือนข้างหน้าต่างก็ปรับตัวขึ้นด้วยเช่นกัน
ส่วนการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในวันพฤหัสบดี (12 ม.ค.) และข้อมูลเศรษฐกิจอื่น ๆ ของสหรัฐในช่วงที่ผ่านมานั้น ได้หนุนความหวังว่า เงินเฟ้อที่มีแนวโน้มลดลงอาจทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยบรรดานักลงทุนคาดการณ์ในขณะนี้ว่า มีโอกาส 91.6% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในเดือนก.พ.
หุ้นเทสลา ปรับตัวลง 0.9% สวนทางตลาด หลังปรับลดราคารถยนต์ไฟฟ้าในสหรัฐและยุโรปลงมากถึง 20% หลังจากการส่งมอบรถยนต์ในปี 2565 ต่ำกว่าคาด
หุ้นเดลตา แอร์ไลน์ ร่วงลง 3.5% หลังคาดการณ์ผลกำไรไตรมาสแรกต่ำกว่าคาด
ตลาดหุ้นสหรัฐจะปิดทำการในวันจันทร์ (16 ม.ค.) เนื่องในวันมาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ และในสัปดาห์นี้ บรรดานักลงทุนจะมุ่งความสนใจไปที่การเปิดเผยผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน รวมถึงความเห็นของซีอีโอของบริษัทต่าง ๆ เกี่ยวกับแนวโน้มธุรกิจ
ข้อมูลจากรีฟินิทิฟ (Refinitiv) ระบุว่า ผลประกอบการเมื่อเทียบเป็นรายปีของบริษัทในดัชนี S&P500 นั้นคาดว่าจะลดลง 2.2% ในไตรมาส 4/2565