ดาวโจนส์ร่วงกว่า 100 จุด ผวาจ้างงานร้อนแรงหนุนเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ยสยบเงินเฟ้อ

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday February 3, 2023 22:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีดาวโจนส์ร่วงลงกว่า 100 จุด หลังสหรัฐเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานที่แข็งแกร่งในเดือนม.ค. ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เพื่อสกัดเงินเฟ้อ

ณ เวลา 21.34 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 33,937.84 จุด ลบ 116.10 จุด หรือ 0.34%

นอกจากนี้ ตลาดยังถูกกดดันจากการแข็งค่าของดอลลาร์ และการดีดตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ

ทั้งนี้ การแข็งค่าของดอลลาร์ทำให้นักลงทุนวิตกว่าจะส่งผลกระทบต่อกำไรของบริษัทจดทะเบียนที่มีรายได้จากต่างประเทศ ส่วนการปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ซึ่งเป็นพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่ใช้อ้างอิงในการกำหนดราคาของตราสารหนี้ทั่วโลก ซึ่งรวมถึงอัตราดอกเบี้ยจำนองของสหรัฐ จะทำให้ผู้บริโภคมีเงินสำหรับการใช้จ่ายลดน้อยลง และบริษัทต่างๆจะเผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้นจากการชำระหนี้ ทำให้บริษัทเหล่านี้ลดการลงทุน และลดการจ่ายเงินปันผลแก่นักลงทุน

นักลงทุนปรับคาดการณ์เพดานอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในปีนี้ สู่ระดับสูงกว่า 5% หลังสหรัฐเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานแข็งแกร่งกว่าที่คาดการณ์ไว้

ก่อนหน้านี้ นักลงทุนคาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% อีกเพียง 1 ครั้งในการประชุมเดือนมี.ค. สู่ระดับ 4.75%-5.00% ก่อนที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงสุดดังกล่าว

อย่างไรก็ดี หลังการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานในวันนี้ FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนคาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% อีก 2 ครั้ง ในการประชุมเดือนมี.ค. และเดือนพ.ค. สู่ระดับสูงสุดที่ 5.00-5.25% ก่อนที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับดังกล่าว

ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรพุ่งขึ้น 517,000 ตำแหน่งในเดือนม.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนก.ค.2565 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 187,000 ตำแหน่ง

ส่วนอัตราการว่างงานลดลงสู่ระดับ 3.4% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ค.2512 และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.6%

กระทรวงแรงงานสหรัฐยังได้ปรับตัวเลขการจ้างงานในเดือนธ.ค. โดยปรับเป็นเพิ่มขึ้น 260,000 ตำแหน่ง จากเดิมรายงานว่าเพิ่มขึ้น 223,000 ตำแหน่ง

ขณะเดียวกัน ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน เพิ่มขึ้น 0.3% เมื่อเทียบรายเดือน สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ และเพิ่มขึ้น 4.4% เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 4.3%

ทั้งนี้ ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงนับเป็นข้อมูลที่เฟดให้ความสำคัญเพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ภาวะเงินเฟ้อ

ส่วนตัวเลขอัตราการเข้าสู่ตลาดแรงงานของสหรัฐ ซึ่งแสดงสัดส่วนของกำลังแรงงานต่อจำนวนประชากรทั้งหมด อยู่ที่ระดับ 62.4%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ