ดาวโจนส์ร่วงกว่า 100 จุด หลุดแนว 34,000 ยอดค้าปลีก, CPI ฉุดตลาด

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday February 15, 2023 21:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีดาวโจนส์เปิดตลาดร่วงกว่า 100 จุด หลุดระดับ 34,000 จุด หลังสหรัฐเปิดเผยยอดค้าปลีกที่พุ่งขึ้นเกินคาด ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เพื่อสกัดเงินเฟ้อ

ณ เวลา 21.32 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 33,921.73 จุด ลบ 167.54 จุด หรือ 0.49%

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ยอดค้าปลีกพุ่งขึ้น 3% ในเดือนม.ค. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 1.8% หลังจากดิ่งลง 1.1% ในเดือนธ.ค.

ยอดค้าปลีกได้รับแรงหนุนจากยอดขายรถยนต์ที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งยอดขายน้ำมันของสถานีบริการน้ำมัน

ส่วนยอดค้าปลีกพื้นฐาน ซึ่งไม่รวมยอดขายรถยนต์ น้ำมัน วัสดุก่อสร้าง และอาหาร เพิ่มขึ้น 1.7% ในเดือนม.ค. หลังจากลดลง 0.7% ในเดือนธ.ค.

นอกจากนี้ นักลงทุนกังวลว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนานกว่าที่คาดไว้ หลังสหรัฐเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อที่สูงกว่าคาด

กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ประจำเดือนม.ค.เมื่อวานนี้ โดยตัวเลข CPI ทุกรายการสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์

ทั้งนี้ ดัชนี CPI ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 6.4% ในเดือนม.ค. เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 6.2%

เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี CPI ทั่วไปปรับตัวขึ้น 0.5% ในเดือนม.ค. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.4%

ส่วนดัชนี CPI พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 5.6% ในเดือนม.ค. เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 5.5%

เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี CPI พื้นฐานปรับตัวขึ้น 0.4% ในเดือนม.ค. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.3%

ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนคาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% อีก 3 ครั้งในการประชุมเดือนมี.ค., พ.ค. และมิ.ย. สู่ระดับสูงสุดที่ 5.25-5.50% และคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับดังกล่าว ก่อนที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในเดือนธ.ค.

นอกจากนี้ ตลาดยังถูกกดดันจากการแข็งค่าของดอลลาร์ และการดีดตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ

ทั้งนี้ การแข็งค่าของดอลลาร์ทำให้นักลงทุนวิตกว่าจะส่งผลกระทบต่อกำไรของบริษัทจดทะเบียนที่มีรายได้จากต่างประเทศ ส่วนการปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ซึ่งเป็นพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่ใช้อ้างอิงในการกำหนดราคาของตราสารหนี้ทั่วโลก ซึ่งรวมถึงอัตราดอกเบี้ยจำนองของสหรัฐ จะทำให้ผู้บริโภคมีเงินสำหรับการใช้จ่ายลดน้อยลง และบริษัทต่างๆจะเผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้นจากการชำระหนี้ ทำให้บริษัทเหล่านี้ลดการลงทุน และลดการจ่ายเงินปันผลแก่นักลงทุน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ