ดัชนีดาวโจนส์ปรับตัวขึ้นในวันนี้ ขานรับผลประกอบการที่แข็งแกร่งของบริษัทจดทะเบียน
ณ เวลา 21.46 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 32,690.44 จุด บวก 28.60 จุด หรือ 0.09%
หุ้นของบริษัทเซลส์ฟอร์ซ และเมซีส์ อิงค์ พุ่งขึ้นในวันนี้ หลังเปิดเผยผลประกอบการสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์
อย่างไรก็ดี ช่วงบวกของดัชนีดาวโจนส์ถูกจำกัด หลังสหรัฐเปิดเผยข้อมูลบ่งชี้ตลาดแรงงานที่แข็งแกร่ง ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)
กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 2,000 ราย สู่ระดับ 190,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว สวนทางนักวิเคราะห์ที่คาดว่าเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 195,000 ราย
ทั้งนี้ ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานลดลงเป็นสัปดาห์ที่ 3 ติดต่อกัน และอยู่ต่ำกว่าระดับ 200,000 รายติดต่อกันเป็นเวลา 7 สัปดาห์
ขณะเดียวกัน กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า จำนวนชาวอเมริกันที่ยังคงขอรับสวัสดิการว่างงานต่อเนื่อง ลดลง 5,000 ราย สู่ระดับ 1.65 ล้านราย
นอกจากนี้ ตลาดถูกกดดันจากการแข็งค่าของดอลลาร์ ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปี ซึ่งมีความอ่อนไหวต่อนโยบายการเงินของเฟด พุ่งขึ้นใกล้ระดับ 5% ในวันนี้ และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ยืนเหนือระดับ 4% ท่ามกลางการคาดการณ์ที่ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแรงกว่าและนานกว่าคาดเพื่อสกัดเงินเฟ้อ
ทั้งนี้ การแข็งค่าของดอลลาร์ทำให้นักลงทุนวิตกว่าจะส่งผลกระทบต่อกำไรของบริษัทจดทะเบียนที่มีรายได้จากต่างประเทศ ส่วนการปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ซึ่งเป็นพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่ใช้อ้างอิงในการกำหนดราคาของตราสารหนี้ทั่วโลก ซึ่งรวมถึงอัตราดอกเบี้ยจำนองของสหรัฐ จะทำให้ผู้บริโภคมีเงินสำหรับการใช้จ่ายลดน้อยลง และบริษัทต่างๆจะเผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้นจากการชำระหนี้ ทำให้บริษัทเหล่านี้ลดการลงทุน และลดการจ่ายเงินปันผลแก่นักลงทุน
นักลงทุนเพิ่มคาดการณ์ที่ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในเดือนมี.ค. และเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแตะระดับสูงสุดในกรอบ 5.50-5.75% ในเดือนก.ย. รวมทั้งเฟดจะไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้
การคาดการณ์ดังกล่าวมีขึ้น ขณะที่เจ้าหน้าที่เฟดต่างแสดงความเห็นสนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในเดือนนี้ หลังตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐบ่งชี้ว่าเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง
นายราฟาเอล บอสติก ประธานเฟด สาขาแอตแลนตา กล่าวว่า เฟดจำเป็นที่จะต้องคุมเข้มนโยบายการเงินไปจนถึงปี 2567 ขณะที่การต่อสู้กับเงินเฟ้อยังคงดำเนินต่อไป
"ประวัติศาสตร์สอนเราว่า ถ้าเราผ่อนคลายการดำเนินการกับเงินเฟ้อก่อนที่มันจะหมดฤทธิ์ลง มันก็จะปะทุขึ้นมาใหม่ ทำให้เราต้องพิจารณาให้ดีว่าเงินเฟ้อจะปรับตัวลงโดยไม่ย้อนกลับขึ้นมาอีก ซึ่งตอนนี้เรายังไปไม่ถึงจุดนั้น" นายบอสติกกล่าว
นอกจากนี้ นายบอสติกกล่าวว่า เฟดจะต้องหาจุดสมดุลในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปสู่ระดับที่สามารถชะลออุปสงค์และสกัดเงินเฟ้อ ขณะเดียวกันก็จะต้องไม่กระทบเศรษฐกิจจนทำให้เข้าสู่ภาวะถดถอย
ด้านนายนีล แคชแครี ประธานเฟด สาขามินเนอาโพลิส กล่าวว่า เขาเปิดกว้างต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% หรือ 0.50% ในการประชุมนโยบายการเงินของเฟดในวันที่ 21-22 มี.ค.
นอกจากนี้ นายแคชแครีกล่าวว่า อัตราดอกเบี้ยขั้นสุดท้ายของเฟดจำเป็นต้องสูงกว่าระดับ 5.4% ที่เขาคาดการณ์ไว้ในเดือนธ.ค.2565
"ผมคิดว่ากรรมการเฟดท่านอื่นเห็นด้วยกับผมที่ว่า การคุมเข้มนโยบายการเงินที่น้อยเกินไปมีความเสี่ยงมากกว่าการคุมเข้มนโยบายการเงินที่มากเกินไป และเนื่องจากข้อมูลบ่งชี้ว่าเงินเฟ้อยังไม่ได้ชะลอตัวลงตามที่มีการคาดการณ์ไว้ ผมจึงจำเป็นต้องปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยของเฟดในอนาคต" นายแคชแครีกล่าวว่า
ถ้อยแถลงของนายแคชแครีสอดคล้องกับความเห็นของนายเจมส์ บูลลาร์ด ประธานเฟด สาขาเซนต์หลุยส์ ซึ่งกล่าวสนับสนุนให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมเดือนมี.ค. และเชื่อว่าการที่เฟดเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะไม่ทำให้สหรัฐเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอยแต่อย่างใด