ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 500 จุดในวันพฤหัสบดี (9 มี.ค.) โดยตลาดถูกกดดันจากหุ้นกลุ่มธนาคารที่ดิ่งลงอย่างหนัก รวมทั้งความกังวลว่าข้อมูลแรงงานของสหรัฐที่จะมีการเปิดเผยในวันนี้ อาจจะผลักดันให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 32,254.86 จุด ร่วงลง 543.54 จุด หรือ -1.66%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,918.32 จุด ลดลง 73.69 จุด หรือ -1.85% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 11,338.35 จุด ดิ่งลง 237.65 จุด หรือ -2.05%
ในช่วงแรกนั้น ตลาดหุ้นนิวยอร์กดีดตัวขึ้น หลังสหรัฐเปิดเผยจำนวนผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกพุ่งขึ้น 21,000 ราย สู่ระดับ 211,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 10 สัปดาห์ และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 195,000 ราย ซึ่งเป็นปัจจัยหนุนความหวังที่ว่าเฟดชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
แต่ตลาดพลิกร่วงสู่แดนลบในเวลาต่อมา เนื่องจากมีแรงเทขายเข้ามาในหุ้นกลุ่มธนาคาร หลังจากเอสวีบี ไฟแนนเชียล กรุ๊ป (SVB Financial Group) ซึ่งเป็นธนาคารปล่อยกู้ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ประกาศขายหุ้นมูลค่า 1.75 พันล้านดอลลาร์ เนื่องจากธนาคารประสบปัญหาเกี่ยวกับกระแสเงินสดหมุนเวียนหลังจากยอดเงินฝากจากบรรดาสตาร์ทอัปลดน้อยลง นอกจากนี้ เอสวีบียังปรับลดคาดการณ์รายได้ในปีงบการเงิน 2566
ข่าวดังกล่าวส่งผลให้ราคาหุ้นเอสวีบีทรุดตัวลง 60% และยังได้ฉุดดัชนีหุ้นกลุ่มธนาคารดิ่งลง 4.1% ทั้งนี้ หุ้นโกลด์แมน แซคส์ ร่วงลง 2.06% หุ้นเวลส์ ฟาร์โก ดิ่งลง 6.18% หุ้นเจพีมอร์แกน ร่วงลง 5.41% หุ้นมอร์แกน สแตนลีย์ ร่วงลง 3.86% หุ้นแบงก์ ออฟ อเมริกา ดิ่งลง 6.02%
หุ้นซิลเวอร์เกต แคปิตอล (Silvergate Capital) ซึ่งเป็นผู้ปล่อยสินเชื่อรายใหญ่ให้กับอุตสาหกรรมคริปโทเคอร์เรนซี ทรุดตัวลง 42.16% หลังจากบริษัทประกาศยุติการดำเนินงาน และขายสินทรัพย์ของซิลเวอร์เกต แบงก์ (Silvergate Bank) เพื่อชำระหนี้
ทั้งนี้ ข่าวซิลเวอร์เกต แคปิตอล ยุติการดำเนินงานเป็นอีกหนึ่งในปัจจัยที่ฉุดดัชนีหุ้นกลุ่มธนาคาร และยังส่งผลให้ราคาหุ้นกลุ่มธุรกิจบล็อกเชนดิ่งลงอย่างหนักเช่นกัน โดยหุ้นคอยน์เบส ร่วงลง 7.84% หุ้นมาราธอน ดิจิทัล ร่วงลง 10.84% หุ้นไรออท แพลตฟอร์มส์ ร่วงลง 12.22%
มาร์ค ลุสชินี นักวิเคราะห์จากบริษัท Janney Montgomery Scott กล่าวว่า นักลงทุนมีความวิตกกังวลก่อนที่กระทรวงแรงงานสหรัฐจะเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือนก.พ.ในวันนี้ โดยแม้มีการคาดการณ์ว่าตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรจะเพิ่มขึ้น 205,000 ตำแหน่งในเดือนก.พ. ซึ่งน้อยกว่าเดือนม.ค.ที่พุ่งขึ้น 517,000 ตำแหน่ง แต่ก็คาดว่าตัวเลขค่าจ้างในเดือนก.พ.จะพุ่งขึ้น 4.7% ในเดือนก.พ. ซึ่งสูงกว่าในเดือนม.ค.ที่เพิ่มขึ้น 4.4% และอาจเป็นปัจจัยกดดันให้เฟดเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเชิงรุก
ข้อมูลจาก FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า ขณะนี้นักลงทุนให้น้ำหนัก 60% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% สู่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมวันที่ 21-22 มี.ค. ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมากจากระดับ 31% ก่อนที่นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟดจะแถลงต่อสภาคองเกรสในวันอังคารและวันพุธที่ผ่านมา