ดัชนีดาวโจนส์ฟิวเจอร์พุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดทะยานกว่า 300 จุด ขานรับดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) สอดคล้องตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์
ณ เวลา 20.08 น.ตามเวลาไทย ดัชนีดาวโจนส์ฟิวเจอร์บวก 331 จุด หรือ 1.03% สู่ระดับ 32,386 จุด
กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ประจำเดือนก.พ.ในวันนี้
ทั้งนี้ ดัชนี CPI ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 6.0% ในเดือนก.พ. เมื่อเทียบรายปี สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ และชะลอตัวจากระดับ 6.2% ในเดือนม.ค.
เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี CPI ทั่วไปปรับตัวขึ้น 0.4% ในเดือนก.พ. สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ จากระดับ 0.5% ในเดือนม.ค.
ส่วนดัชนี CPI พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 5.5% ในเดือนก.พ. เมื่อเทียบรายปี สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ และชะลอตัวจากระดับ 5.6% ในเดือนม.ค.
เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี CPI พื้นฐานปรับตัวขึ้น 0.5% ในเดือนก.พ. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.4% จากระดับ 0.4% ในเดือนม.ค. หุ้นกลุ่มธนาคารพุ่งขึ้นในการซื้อขายก่อนเปิดตลาด โดยโกลด์แมน แซคส์ และซิตี้กรุ๊ป พุ่งขึ้นกว่า 2% ขณะที่เจพีมอร์แกนดีดตัวขึ้นกว่า 1% ขณะที่นักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับวิกฤตการณ์จากการล่มสลายของซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ (Silicon Valley Bank) หรือ SVB ส่วนราคาหุ้นของธนาคารระดับภูมิภาคดีดตัวขึ้นก่อนเปิดตลาดเช่นกัน โดยธนาคารเฟิร์สท์ รีพับลิค แบงก์ (First Republic Bank) หรือ FRB พุ่งขึ้นกว่า 50%, PacWest ทะยานเกือบ 30%, KeyCorp ดีดตัวขึ้น 15% ส่วน Zions Bancorp บวก 10% ทั้งนี้ FRB ส่งจดหมายถึงลูกค้า ยืนยันว่าธนาคารยังคงมีเงินทุนที่แข็งแกร่ง และสูงกว่าระดับที่กฎหมายกำหนดไว้ "เราพร้อมที่จะดำเนินธุรกรรม และตอบคำถาม รวมทั้งรองรับความต้องการทางการเงินทั้งหมดของท่าน เช่นเดียวกับที่เราได้ดำเนินการอยู่ทุกวัน" นายจิม เฮอร์เบิร์ต ประธานกรรมการ FRB และนายไมค์ รอฟเฟลอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร FRB ระบุในจดหมายดังกล่าว FRB เน้นให้บริการลูกค้าในระดับสูงและภาคธุรกิจ ขณะที่มีเงินฝากจากลูกค้ารายย่อยต่ำกว่าระดับเฉลี่ยเมื่อเทียบสัดส่วนสินทรัพย์ทั้งหมด นอกจากนี้ FRB เปิดเผยว่า ธนาคารมีเงินฝากทั้งหมดจำนวน 1.76 แสนล้านดอลลาร์ ณ สิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค.2565 หุ้น FRB ดิ่งลงกว่า 70% วานนี้ โดยถูกกดดันจากการที่รัฐบาลสหรัฐสั่งปิดกิจการของซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ (Silicon Valley Bank) หรือ SVB และซิกเนเจอร์ แบงก์ (Signature Bank) หรือ SB นักลงทุนกังวลว่าการล่มสลายของ SVB และ SB จะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของระบบธนาคาร และลุกลามไปยังธนาคารประจำภูมิภาคของสหรัฐ เช่น FRB แม้ว่า FRB มีการดำเนินนโยบายแตกต่างจาก SVB ซึ่งเป็นธนาคารที่เน้นการปล่อยกู้ให้กับธุรกิจสตาร์ทอัพในกลุ่มเทคโนโลยี ขณะที่ SB เป็นธนาคารที่ปล่อยกู้ให้กับอุตสาหกรรมคริปโทเคอร์เรนซี กระทรวงการคลังสหรัฐยืนยันว่า ประชาชนที่ฝากเงินไว้กับ SVB และ SB จะสามารถเข้าถึงเงินฝากได้เต็มจำนวนตั้งแต่วันนี้ ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศจัดตั้งโครงการ "Bank Term Funding Program" เพื่อปกป้องสถาบันการเงินอื่นๆ ไม่ให้ได้รับผลกระทบจากการล้มละลายของ SVB และ SB รายงานระบุว่า FRB สามารถเข้าถึงสภาพคล่องได้กว่า 7 หมื่นล้านดอลลาร์ หลังจากเฟดประกาศโครงการ Bank Term Funding Program ซึ่งเป็นโครงการที่เฟดเสนอเงินกู้อายุ 1 ปีให้กับธนาคารพาณิชย์ สถาบันรับฝากเงิน เครดิตยูเนี่ยน และสถาบันการเงินอื่นๆ โดยสถาบันการเงินที่เข้าเกณฑ์ที่จะได้รับเงินกู้จากโครงการดังกล่าว จะต้องยื่นหลักทรัพย์ค้ำประกัน เช่น พันธบัตรรัฐบาล ตราสารหนี้ และตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันการจำนอง (MBS)