ดัชนีดาวโจนส์ปรับตัวแคบ ขณะที่นักลงทุนจับตาผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน และทิศทางอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)
ณ เวลา 20.41 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 33,795.58 จุด บวก 8.96 จุด หรือ 0.03%
ข้อมูลจาก Refinitiv IBES ระบุว่า นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า บริษัทในดัชนี S&P 500 จะรายงานตัวเลขกำไรลดลง 5.2% ในไตรมาส 1/2566 หลังจากคาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่าจะมีกำไรเพิ่มขึ้น 1.4% ในไตรมาสดังกล่าว
เจ้าหน้าที่เฟดจะสามารถกล่าวแสดงความเห็นเกี่ยวกับนโยบายการเงินในวันนี้เป็นวันสุดท้าย ก่อนที่จะเริ่มเข้าสู่ช่วงงดเว้นการแสดงความเห็น (Blackout Period) ในวันพรุ่งนี้ ขณะที่เฟดจะจัดการประชุมกำหนดนโยบายในวันที่ 2-3 พ.ค. ซึ่งเป็นไปตามกฎระเบียบของเฟด
ทั้งนี้ กฎระเบียบของเฟดได้ระบุห้ามเจ้าหน้าที่เฟดแสดงความเห็นต่อสาธารณะ หรือให้สัมภาษณ์ในช่วง Blackout Period เกี่ยวกับนโยบายการเงิน โดยเริ่มตั้งแต่วันเสาร์ที่สองก่อนที่การประชุมนโยบายการเงินของเฟด (FOMC) จะเริ่มขึ้น และสิ้นสุดในวันพฤหัสบดีหลังการประชุม FOMC
FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 84.0% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมวันที่ 2-3 พ.ค. และให้น้ำหนักเพียง 16.0% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 4.75-5.00%
นายราฟาเอล บอสติก ประธานเฟด สาขาแอตแลนตา กล่าวว่า เขาคาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 1 ครั้ง ก่อนที่จะพักการดำเนินการด้านดอกเบี้ยเพื่อพิจารณาถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากการที่เฟดใช้นโยบายคุมเข้มทางการเงิน
อย่างไรก็ดี นายบอสติกกล่าวว่า เฟดจะยังไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ เนื่องจากเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง เมื่อเทียบกับเป้าหมายที่ระดับ 2% ของเฟด แม้เจ้าหน้าที่เฟดหลายรายระบุเตือนในการประชุมเดือนมี.ค.ว่าสหรัฐอาจเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปีนี้
ถ้อยแถลงดังกล่าวของนายบอสติกสวนทางคาดการณ์ของตลาด ซึ่งมองว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% ก่อนสิ้นปี 2566
นายคริส วัตลิง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Longview Economics ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน ระบุว่า ตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุดบ่งชี้ว่าสหรัฐใกล้ที่จะเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอย และนักลงทุนจะต้องเตรียมรับมือผลกระทบจากการดิ่งลงของตลาดหุ้น
ทั้งนี้ นายวัตลิงกล่าวให้สัมภาษณ์ในรายการ Squawk Box Europe ของสถานีข่าว CNBC ในวันนี้ว่า เขาเชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยกำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งบ่งชี้จากดัชนี Leading Economic Index (LEI) ที่ย่ำแย่วานนี้
Conference Board เปิดเผยวานนี้ว่า ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ Leading Economic Index (LEI) ร่วงลง 1.2% สู่ระดับ 108.4 ในเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย.2563
Conference Board ระบุว่า ดัชนีบ่งชี้แนวโน้มภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา ขณะที่องค์ประกอบหลายตัวของดัชนีต่างปรับตัวอย่างอ่อนแอ และแสดงสัญญาณว่าเศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะถดถอยเริ่มตั้งแต่กลางปี 2566
ทั้งนี้ ดัชนี LEI ถือเป็นสิ่งบ่งชี้ภาวะเศรษฐกิจสหรัฐ โดยคำนวณจากตัวเลขเศรษฐกิจ 10 รายการ ซึ่งรวมถึงราคาหุ้น คำสั่งซื้อใหม่ของภาคการผลิต การอนุญาตสร้างบ้าน ตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการว่างงาน และความเชื่อมั่นผู้บริโภค
นอกจากนี้ นายวัตลิงกล่าวว่า การที่ตลาดพันธบัตรสหรัฐเกิดภาวะ inverted yield curve โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นดีดตัวเหนือพันธบัตรระยะยาว ก็เป็นการบ่งชี้ถึงแนวโน้มการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย
นายวัตลิงเปิดเผยว่า โดยทั่วไปแล้ว เศรษฐกิจถดถอยจะเกิดขึ้น หลังเกิดภาวะ inverted yield curve ราว 1 ปี โดยตลาดพันธบัตรสหรัฐเกิดภาวะ inverted yield curve ครั้งแรกในเดือนมี.ค.2565 และเกิดขึ้นอีกหลายครั้งในหลายเดือนต่อมา
"ทุกครั้งที่คุณเห็น inverted yield curve ก็จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐตามมา ผมคิดว่ามันจะมาแน่ อยู่ที่ว่าจะช้าหรือเร็วเท่านั้น" นายวัตลิงกล่าว
นอกจากนี้ นายวัตลิงระบุเตือนว่า ตลาดหุ้นจะได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย
"เมื่อเกิดเศรษฐกิจถดถอย กำไรของบริษัทจดทะเบียนก็จะถูกกระทบ ซึ่งผมคิดว่าตัวเลขคาดการณ์กำไรอยู่สูงเกินไปในขณะนี้ และตลาดหุ้นจะถูกกระทบจากปัจจัยดังกล่าว" นายวัตลิงกล่าว