ดาวโจนส์พุ่งกว่า 100 จุด เก็ง GDP ต่ำคาดหนุนเฟดชะลอขึ้นดอกเบี้ย

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday April 27, 2023 20:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีดาวโจนส์พุ่งขึ้นกว่า 100 จุด ขานรับการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐที่ต่ำกว่าคาดในไตรมาส 1/2566 ซึ่งจะเป็นปัจจัยชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)

ณ เวลา 20.41 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 33,455.38 จุด บวก 153.51 จุด หรือ 0.46%

นอกจากนี้ ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทยังได้แรงหนุนจากการเปิดเผยผลประกอบการที่แข็งแกร่งของบริษัทเมตา แพลตฟอร์มส์ ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของเฟซบุ๊กและอินสตาแกรม

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 สำหรับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 1/2566 ในวันนี้ โดยระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัวเพียง 1.1% ในไตรมาสดังกล่าว ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 2.0%

อย่างไรก็ดี ตัวเลขการขยายตัวดังกล่าว สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ GDPNow ในแบบจำลองที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาแอตแลนตาเปิดเผยวานนี้ ซึ่งระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 1.1% ในไตรมาส 1/2566

สำหรับในปี 2565 เศรษฐกิจสหรัฐหดตัว 1.6% ในไตรมาส 1 และ 0.6% ในไตรมาส 2 ทำให้สหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค ก่อนที่มีการขยายตัว 3.2% และ 2.6% ในไตรมาส 3 และ 4 ตามลำดับ

เมื่อพิจารณาตลอดทั้งปี 2565 เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 2.1% หลังจากพุ่งแตะระดับ 5.9% ในปี 2564

กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 16,000 ราย สู่ระดับ 230,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว สวนทางนักวิเคราะห์ที่คาดว่าเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 249,000 ราย

ส่วนตัวเลขค่าเฉลี่ย 4 สัปดาห์ของจำนวนชาวอเมริกันที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรก ซึ่งถือเป็นมาตรวัดตลาดแรงงานที่ดีกว่า เนื่องจากขจัดความผันผวนรายสัปดาห์ ลดลงสู่ระดับ 236,000 ราย

ขณะเดียวกัน กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า จำนวนชาวอเมริกันที่ยังคงขอรับสวัสดิการว่างงานต่อเนื่อง ลดลง 3,000 ราย สู่ระดับ 1.86 ล้านราย

นักลงทุนจับตาการเปิดเผยผลประกอบการของบริษัทแอมะซอนและอินเทล หลังจากปิดตลาดวันนี้

นอกจากนี้ ตลาดจับตาดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ในวันพรุ่งนี้ โดยดัชนีดังกล่าวเป็นข้อมูลเงินเฟ้อสำคัญตัวสุดท้ายก่อนที่เฟดจะจัดการประชุมนโยบายการเงินในวันที่ 2-3 พ.ค.

ทั้งนี้ ดัชนี PCE ถือเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ โดยสามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ