ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นกว่า 500 จุดในวันพฤหัสบดี (27 เม.ย.) ขณะที่ดัชนี Nasdaq ทะยานขึ้นกว่า 2% ขานรับผลประกอบการที่สดใสของบริษัทจดทะเบียน ซึ่งรวมถึงเมตา แพลตฟอร์ม, คอมแคสต์ และแคทเธอร์ พิลลาร์
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ระดับ 33,826.16 จุด พุ่งขึ้น 524.29 จุด หรือ +1.57%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,135.35 จุด เพิ่มขึ้น 79.36 จุด หรือ +1.96% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 12,142.24 จุด พุ่งขึ้น 287.89 จุด หรือ + 2.43%
โมนา มาฮาจาน นักวิเคราะห์จากบริษัท Edward Jones ในรัฐเซนต์หลุยส์กล่าวว่า ผลประกอบการของเมตา แพลตฟอร์มส์ และบริษัทรายใหญ่อีกหลายแห่งออกมาแข็งแกร่งเกินคาด ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าภาคธุรกิจของสหรัฐสามารถปรับตัวเพื่อรับมือกับภาวะเศรษฐกิจได้ดี นอกจากนี้ บริษัทหลายแห่งที่มีฐานเงินทุนแข็งแกร่งยังได้ประกาศแผนการซื้อหุ้นคืน
ราคาหุ้นเมตา แพลตฟอร์มส์ ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของเฟซบุ๊กและอินสตาแกรม ทะยานขึ้น 13.93% หลังบริษัทเปิดเผยรายได้ในไตรมาส 1/2566 อยู่ที่ 2.865 หมื่นล้านดอลลาร์ สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 2.765 หมื่นล้านดอลลาร์ นอกจากนี้ เมตาคาดการณ์ว่า รายได้ในไตรมาส 2/2566 จะอยู่ที่ 3.2 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 2.95 หมื่นล้านดอลลาร์
ผลประกอบการที่แข็งแกร่งของเมตาช่วยหนุนราคาหุ้นบริษัทอื่น ๆ ในกลุ่มเทคโนโลยี โดยหุ้นแอปเปิ้ล พุ่งขึ้น 2.84% หุ้นไมโครซอฟท์ พุ่งขึ้น 3.2% หุ้นอะเมซอน ทะยานขึ้น 4.6% หุ้นเน็ตฟลิกซ์ เพิ่มขึ้น 1.46%
หุ้นคอมแคสต์ ซึ่งเป็นสื่อยักษ์ใหญ่ของสหรัฐ ทะยานขึ้น 10.27% หลังจากบริษัทเปิดเผยกำไรต่อหุ้นในไตรมาส 1/2566 อยู่ที่ 92 เซนต์ สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 82 เซนต์ ขณะที่หุ้นอเมริกัน แอร์ไลน์ บวก 1.1% หลังบริษัทเปิดเผยกำไรและรายได้สอดคล้องกับการคาดการณ์
หุ้นเมอร์ค แอนด์ โค ซึ่งเป็นบริษัทยารายใหญ่ของสหรัฐ ดีดตัวขึ้น 1.52% หลังบริษัทเปิดเผยกำไรต่อหุ้นในไตรมาส 1/2566 อยู่ที่กำไร 1.40 ดอลลาร์ สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 1.32 ดอลลาร์
หุ้นแคทเธอร์ พิลลาร์ ซึ่งเป็นบริษัทผลิตเครื่องมือก่อสร้างขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ปิดตลาดขยับลง 0.8% หลังจากราคาหุ้นพุ่งขึ้นแข็งแกร่งในระหว่างวัน ขานรับรายงานผลกำไรต่อหุ้นในไตรมาส 1/2566 ซึ่งอยู่ที่ 4.91 ดอลลาร์ สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ 3.80 ดอลลาร์
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ขยายตัวเพียง 1.1% ในไตรมาส 1/2566 ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 2.0% เนื่องจากภาคธุรกิจปรับลดการลงทุนในการสต็อกสินค้า ซึ่งบดบังตัวเลขการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่ปรับตัวสูงขึ้น
อย่างไรก็ดี แม้ว่าตัวเลข GDP ไตรมาส 1 ของสหรัฐออกมาต่ำกว่าคาด แต่นักลงทุนส่วนใหญ่ยังคงคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% ในการประชุมเดือนพ.ค.
ทางด้านกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 16,000 ราย สู่ระดับ 230,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว สวนทางนักวิเคราะห์ที่คาดว่าเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 249,000 ราย
นักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือนมี.ค.ของสหรัฐในวันนี้ โดยดัชนี PCE เป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ เนื่องจากสามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)
นอกจากนี้ นักลงทุนยังจับตาความคืบหน้าในการผลักดันร่างกฎหมายเพิ่มเพดานหนี้ของรัฐบาลกลางสหรัฐ โดยแม้ว่าสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐโหวตผ่านร่างกฎหมายเพิ่มเพดานหนี้เมื่อวันพุธที่ผ่านมา แต่คาดว่าร่างกฎหมายดังกล่าวจะไม่ผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภา และประธานาธิบดีโจ ไบเดน อาจจะใช้สิทธิ์วีโต (veto) เพื่อคัดค้านร่างกฎหมายหากผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภา เนื่องจากร่างกฎหมายฉบับนี้มีการพ่วงข้อเสนอการปรับลดการใช้จ่ายของรัฐบาลในช่วง 10 ปีข้างหน้า โดยปัจจุบันเพดานหนี้ของรัฐบาลสหรัฐอยู่ที่ระดับ 31.4 ล้านล้านดอลลาร์
ทั้งนี้ เพดานหนี้คือจำนวนเงินทั้งหมดที่รัฐบาลสหรัฐได้รับอนุญาตให้ทำการกู้ยืมเพื่อให้รัฐบาลสามารถชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย ซึ่งรวมถึงค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับสวัสดิการด้านประกันสังคมและด้านสุขภาพ, ดอกเบี้ยตราสารหนี้ของรัฐบาล และการใช้จ่ายอื่น ๆ